หอการค้าฯ ชี้ตั้งนายกฯ ไว ความเชื่อมั่นกลับมาเร็ว หวังเดินหน้าสานต่อแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 16, 2024 16:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หอการค้าฯ ชี้ตั้งนายกฯ ไว ความเชื่อมั่นกลับมาเร็ว หวังเดินหน้าสานต่อแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวแสดงความยินดีกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ซึ่งในมุมมองของหอการค้าไทย ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ที่สภาฯ มีมติเห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้อย่างรวดเร็ว เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยให้ความเชื่อมั่นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว

"หลังจากนี้ จะเป็นขั้นตอนของการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งหลังจากจบกระบวนการตามกฎหมายแล้วเสร็จ จะเป็นส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาได้อย่างรวดเร็ว" นายสนั่น กล่าว

ประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น ที่ยังต้องการการฟื้นตัวอย่างเร่งด่วน ประกอบด้วย

1.การรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่แข็งค่ามากเกินไป ซึ่งจะเอื้อต่อภาคการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวให้เติบโตต่อเนื่อง

2.การรักษาโมเมนตัมภาคการท่องเที่ยว โดยเฉลี่ยนักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนละ 3 ล้านคน ในส่วนนี้ต้องการให้มีการผลักดันและอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว รวมไปถึงการดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ตลอดจนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและบริการ เพื่อให้นักท่องเที่ยวปีนี้ เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 36-37 ล้านคน

ขณะเดียวกัน ควรรณรงค์ "เมืองน่าเที่ยว" อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การท่องเที่ยวโดดเด่น และเกิดการกระจายตัว กระจายรายได้จากแหล่งท่องเที่ยวเมืองหลักไปสู่เมืองน่าเที่ยว รวมถึงเดินหน้าแผนการกระจายการลงทุนไปจังหวัดนำร่อง 10 จังหวัด ที่หอการค้าฯ ได้ทำร่วมมาช่วงก่อนหน้านี้ต่อ

3.การเดินหน้ารุกตลาดต่างประเทศ เพื่อให้การส่งออกของไทยให้ขยายตัวได้ในช่วงที่เหลือไม่ต่ำกว่า 2% ต่อเนื่องจากที่ช่วงก่อนหน้านี้ ได้ไปเชิญชวนหลายบริษัทมาลงทุนที่ประเทศไทย

4.การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ให้กระจายไปทุกภูมิภาค ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างเด่นชัด และควรเร่งจัดทำงบประมาณปี 68 ให้เสร็จสิ้นตามกระบวนการหรือในกรอบระยะเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้ยืดเยื้อในปีที่ผ่านมา

5.การแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน ทั้งมาตราการเยียวยาและการกระตุ้นเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงมาตรการปกป้องและช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับความเดือดร้อนจากสินค้านำเข้าที่ทะลักเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าจากจีน

6.พรรคร่วมรัฐบาลจำเป็นต้องทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ เพื่อให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพ สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนที่เป็นตัวจริงด้านการค้า และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ซึ่งเราเองก็มีหอการค้าในทุกจังหวัดที่พร้อมจะทำงานสนับสนุนร่วมกันกับภาครัฐ

นายสนั่น กล่าวว่า สิ่งที่ภาคเอกชนอยากเห็น คือ การมีนายกรัฐมนตรีได้เร็ว ทำให้ประเทศไม่เกิดสุญญากาศ ส่วนนี้ทำให้เรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้เร็ว ส่วนที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยนั้น ประเด็นนี้มองว่าขึ้นอยู่ที่การแสดงความเป็นผู้นำและการบริหารราชการแผ่นดินหลังจากนี้

สำหรับความพร้อมของการบริหารงานที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ก็เชื่อว่าพรรคเองมีความพร้อมด้านบุคคลกรที่มีความรู้ความสามารถในทุกด้านอยู่แล้ว ซึ่งภาคเอกชนอยากเห็นการทำงานเป็นทีมกับพรรคร่วมรัฐบาลมากขึ้น ก็จะทำให้การทำงานของ ครม. ชุดใหม่ มีเอกภาพและเสถียรภาพ

พร้อมมองว่า หลายมาตรการของอดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน โดยเฉพาะการเปิดประตูการค้า และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้รัฐบาลชุดใหม่จำเป็นต้องเดินหน้าสานต่อ โดยกำหนดกระทรวงหรือผู้รับผิดชอบขึ้น เพื่อติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด รวมถึงการเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการที่เกี่ยวข้องกับ Soft Power

"ส่วนนี้ หอการค้าฯ เห็นว่าเป็นเรื่องที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบ และสามารถที่จะต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของไทยได้อยู่แล้ว ซึ่งเอกชนเห็นด้วยว่าควรเดินหน้าขับเคลื่อนในประเด็นนี้ต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน การดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล ยังเป็นปัญหาของไทยที่ยังขาดบุคคลากรที่มีความพร้อมในด้านทักษะที่เพียงพอ ตลอดจนปัญหาด้านต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ยังสูงและกฎหมายที่ล้าสมัยไม่เอื้อต่อการเข้ามาลงทุน สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องแก้ไข ซึ่งนอกจากที่รัฐบาลจะเป็นเซลล์แมนแล้วจะต้องปิดการขายให้ได้ด้วย" นายสนั่น กล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเทศไทยมี GDP เติบโตเฉลี่ย 2% ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพ และไม่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้น ในระยะกลางและระยะยาว จึงเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลต้องวางกลยุทธ์สำหรับประเทศ เพื่อทำให้ GDP ของไทยเติบโตไม่ต่ำกว่า 3-5% ต่อปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ