นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศ ได้จัดการประชุมร่วมกับภาคเอกชน 30 กลุ่มธุรกิจ เพื่อรับฟังสถานการณ์การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และสถานการณ์การแข่งขันทางการค้าระหว่างสินค้า SMEs ไทยกับสินค้าจากต่างประเทศ รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะ และแนวทางการแก้ไขปัญหาการแข่งขันทางการค้า ของสินค้าในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในด้านคุณภาพและราคา
โดยผู้ประกอบการ ได้เสนอข้อมูลปัญหาและผลกระทบในภาพรวม ที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงภาคบริการและการลงทุน ปัญหาด้านมาตรฐานสินค้าคุณภาพต่ำและราคาถูก การลักลอบนำเข้าสินค้าทางชายแดน การสำแดงพิกัดสินค้าที่เป็นเท็จ รวมถึงการเข้ามาตั้งธุรกิจบริการและภาคการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทย และผู้บริโภคชาวไทย
พร้อมให้ข้อเสนอแนะ การเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของสินค้านำเข้า การใช้มาตรการทางภาษีเพื่อคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศ การสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการไทยด้านการผลิต และศักยภาพการประกอบธุรกิจ เพื่อให้สินค้าและธุรกิจไทยรักษาส่วนแบ่งตลาดได้ และการปรับปรุงกฎหมาย รวมถึงความตกลงต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าไทย
ขณะที่กลุ่มที่จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าทุน ได้ขอให้พิจารณาในแง่ผลกระทบ หากมีการใช้มาตรการกับสินค้านำเข้า เนื่องจากมีความจำเป็นต้องนำเข้าส่วนประกอบสินค้า
นายรณรงค์ กล่าวว่า แต่ละข้อเสนอดังกล่าว กรมฯ จะรวบรวมทุกความเห็น เพื่อนำไปประมวลและเสนอในระดับนโยบาย เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการร่วมกันของทุกหน่วยงานในภาพรวมต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการเยียวยาทางการค้า (AD/CVD/AC/ Safeguard) กรมฯ ได้อธิบายให้ผู้ประกอบการรับทราบ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอน ระบบการจัดเก็บข้อมูล กระบวนการไต่สวน รวมทั้งผลกระทบจากการใช้มาตรการ ซึ่งดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ. AD/CVD และ พ.ร.บ. Safeguard โดยหากผู้ประกอบการพิจารณาแล้วว่าได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าที่มีราคาไม่เป็นธรรม หรือมีการทะลักของสินค้านำเข้า สามารถยื่นคำขอใช้มาตรการดังกล่าวได้ ซึ่งต้องมีเอกสารหลักฐานที่เพียงพอและน่าเชื่อถือ
อย่างไรก็ดี กรมฯ มีแผนจะจัดการอบรมให้ความรู้กับผู้ประกอบการไทยเกี่ยวกับกฎหมาย วิธีการยื่นคำขอและไต่สวนด้านมาตรการเยียวยาทางการค้าโดยเฉพาะ
นายรณรงค์ เน้นย้ำว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสินค้าไม่ได้มาตรฐาน และราคาต่ำจากต่างประเทศมาโดยตลอด โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ติดตามและประสานกับหน่วยงานภาครัฐอื่นที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามนโยบาย การใช้มาตรการแก้ไขปัญหาสินค้าไม่ได้มาตรฐานราคาต่ำ ต้องคำนึงถึงการค้าที่เป็นธรรมและยั่งยืน เนื่องจากการค้าไทยต้องพึ่งพาประเทศคู่ค้า มาตรการต้องสอดคล้องกับพันธกรณีและความตกลงระหว่างประเทศ การดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐจะต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับกฎหมาย และเกิดผลที่สามารถวัดได้
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย รวมทั้งโครงสร้างของคณะทำงานระดับชาติในการขับเคลื่อนมาตรการที่มีผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ภายในสัปดาห์หน้า
อนึ่ง ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประชุมกับกรมการค้าต่างประเทศในครั้งนี้ ได้แก่ ผู้ประกอบการธุรกิจภายใต้หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมต่าง ๆ เช่น พลาสติก เครื่องนุ่งห่ม ของขวัญของชำร่วย เครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงาน เครื่องปรับอากาศ เหล็ก เครื่องจักรกลและโลหะการ เซรามิก แกรนิตและหินอ่อน เครื่องสำอาง อาหารเสริม เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น