เจ้าหน้าที่การเงินของยุโรปได้เรียกร้องให้รัฐบาลของกลุ่มประเทศในเขตยูโรกำหนดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผู้บริโภคเพื่อช่วยให้ประชาชนระดับรากหญ้าสามารถรับมือกับวิกฤตเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 16 ปี ขณะที่ชาวยุโรปกำลังได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานแพงเป็นตัวบั่นทอนรายได้ของผู้บริโภค
"กำลังซื้อของผู้บริโภคกำลังดิ่งร่วงลงอย่างหนักจากภาวะที่ราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ และอาหารปรับตัวสูงขึ้น" นายฌอง-คล้อด ยังค์เกอร์ รัฐมนตรีคลังของลักเซมเบิร์กกล่าวในการประชุมกับเจ้าหน้าที่ยุโรปที่กรุงบรัสเซลวานนี้
อัตราเงินเฟ้อยังคงทรงตัวสูงในระยะนี้ ซึ่งเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา นายฌอง-คล้อด ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรปได้ออกแถลงการณ์ที่ส่งสัญญาณว่า ECB จะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากต้นทุนอาหารและพลังงานที่สูงขึ้นทำให้ราคาสินค้าราคารายปีในเดือนมี.ค.พุ่งแตะระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2535
"ภาวะที่ผู้บริโภคขาดกำลังซื้อถือเป็นจุดอ่อนต่อเศรษฐกิจยุโรป ขณะที่เงินเฟ้อเป็นปัญหาสำคัญ" โจอาควิน อัลมูเนีย คณะกรรมการกิจการด้านการเงินของสหภาพยุโรป ซึ่งเข้าร่วมประชุมในกรุงบรัสเซลกล่าว "ประชาชนทั่วไปกำลังเผชิญความเดือดร้อนมากขึ้นเรื่อยๆจากวิกฤติอาหารและน้ำมันแพง"
เว็บไซต์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า ยอดค้าปลีกของกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปทรุดฮวบหนักสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมีนาคม เนื่องจากต้นทุนด้านอาหารและเชื้อเพลิงที่พุ่งขึ้นไม่หยุดได้ฉุดรั้งอัตราการใช้จ่ายผู้บริโภค ทั้งนี้ ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดพุ่งทะยานขึ้นไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 126.98 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อคืนนี้
อย่างไรก็ตาม นายอัลมูเนียกล่าวทิ้งท้ายว่า "ผมหวังว่าเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะชะลอตัวลงมาอยู่ในระดับที่ตั้งเป้าไว้ 2%"
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย อรษา สงค์พูล/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--