นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่า ภาพรวมเครื่องชี้เศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุด มองว่าเศรษฐกิจส่งสัญญาณในเชิงบวก ข้อมูลเบื้องต้นเดือน ก.ค. ดูโอเค ทำให้ กนง.ไม่ได้ปรับมุมมองต่อภาพของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเห็นว่ายังมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่
สำหรับการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในรอบหน้า ก็เป็นข้อมูลหนึ่งที่รวมอยู่ในการพิจารณาของ กนง. แต่ทั้งนี้ การตัดสินใจของ กนง. ไม่ได้อ้างอิงกับดอกเบี้ยสหรัฐมากนัก เพราะช่วงที่ กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย ก็ขึ้นหลังเฟดค่อนข้างนาน และขึ้นในอัตราที่น้อยกว่ามาก
แต่ปัจจัยหลักที่เรามอง คือ เรื่องในประเทศ พัฒนาการภาวะการเงินที่มาเชื่อมโยงกับภาวะเศรษฐกิจว่ามีอะไรที่จะต้องมาประเมินหรือไม่ ถ้ามีอะไรเป็นนัยที่ไม่ได้คาดคิดไว้ก็มีสิทธิที่เราจะมาดูความเหมาะสมของจุดยืนนโยบาย แต่ถ้าเป็นแบบที่มองไว้ ก็ถือว่าจุดยืนปัจจุบันก็ใกล้เคียง Neutral หรือเป็นกลาง
"ความชัดเจนของแนวนโยบาย ความนิ่งของตลาดการเงินโลก ที่คาดว่ารอบหน้าเฟดจะมีการปรับนโยบาย ซึ่งก็จะได้เห็นความชัดเจนเสียที" นายปิติ กล่าว
นายปิติ กล่าวว่า การจะพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยนโยบายนั้น ทุกปัจจัยล้วนมีเหตุผลต่อการพิจารณาชั่งน้ำหนัก เพราะนโยบายการเงินมีผลกระทบวงกว้าง ทั้งภาระหนี้ ต้นทุนการเงินของภาคประชาชน ภาคธุรกิจ การออมเงิน ดังนั้น การชั่งน้ำหนัก คือ ต้องมองระยะปานกลางด้วยว่าต้นทุนหรือภาวะการเงินจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคตอย่างไร
"การชั่งน้ำหนักที่สำคัญคือมองระยะปานกลางด้วย ว่าต้นทุน หรือภาวะการเงินส่งให้ระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างไรในอนาคต ทั้งการเงิน งบดุลเอกชน และภาครัฐ เป็นการชั่งน้ำหนักที่มีเหตุและผลแต่ละปัจจัยเยอะ ดอกเบี้ย 2.5% ไม่สูงเมื่อเทียบต่างประเทศ กนง.ชั่งน้ำหนักทุกรอบ และไม่ให้อัตราดอกเบี้ย และภาวะเงินเป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจ กนง.จึงจับตาภาวะการเงินใกล้ชิดว่าระยะต่อไปจะเป็นผลให้เศรษฐกิจชะลอมากกว่าที่เป็นหรือไม่ แล้วค่อยประเมิน แต่ตอนนี้เรายังไม่มองว่าเป็นแบบนั้น" นายปิติ ระบุ
นายปิติ กล่าวว่า ขณะนี้ กนง.กำลังจับตาพัฒนาการหลายด้านของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาส 2 พบว่า การลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายของภาครัฐลดลงมากกว่าที่คาดไว้ โดยการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง ถ้าเทียบไตรมาส/ไตรมาส ลดลงมากกว่าช่วงโควิด และลดลงครึ่งหนึ่งของช่วง global financial crisis ซึ่งเห็นว่าการดิ่งลงมาจากปัจจัยเฉพาะ ส่วนสัญญาณชี้วัดตัวอื่นยังไม่ได้แย่ขนาดนั้น แต่ก็เป็นตัวหนึ่งที่ทำให้เราต้องดูแนวโน้มอุปสงค์ในประเทศว่าเป็นอย่างไร
ขณะที่มุมมองเงินเฟ้อไม่เปลี่ยนแปลงจากรอบก่อนและระยะข้างหน้า ในตอนนี้ไม่ได้เป็นประเด็นอะไรมาก แม้คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำในต้นปีหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุผลเฉพาะของเทรนด์อาหารสด แต่ไม่ใช่มาจากการอ่อนแอของอุปสงค์ นอกจากนี้ ในส่วนของภาวะการเงิน รอดูความชัดเจนว่าพัฒนาการของคุณภาพสินเชื่อ โดยเฉพาะครัวเรือนจะเป็นอย่างไรต่อ เพราะแม้การปล่อยสินเชื่อน้อยลง และคุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มแย่ลงบ้าง แต่การแย่ลงก็ไม่ได้เกินไปจากที่เรามองไว้
สำหรับความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น อาจจะมีมากขึ้นจากความไม่แน่นอนของอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งเคยคาดไว้แล้วว่าการบริโภคภาคเอกชนจะชะลอลง เพราะ 2-3 ปีที่ผ่านมาโตเร็วมาก เรามองว่าอัตราการขยายตัวในครึ่งปีแรก และครึ่งปีหลัง จะหายไปครึ่งหนึ่ง ดังนั้น การชะลอลงของเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นเรื่องที่เราไม่ได้คาดคิด เรามองไว้อยู่แล้ว แต่ในเรื่องของความเสี่ยง 1.อยากดูการลงทุนภาคเอกชนว่าการที่ลดลงมากนี้ เป็นชั่วคราวหรือมีอะไรมากกว่านั้น
ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาครัฐก็ออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้ ต้องรอดูอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ดูภาคเศรษฐกิจล้วนๆ ภาคการเงิน ดูพัฒนาการคุณภาพสินเชื่อจะกระทบเศรษฐกิจอย่างมีนัยหรือเปล่า แม้ base line จะมองว่าไม่ได้เป็นประเด็นที่สร้างปัญหาอะไร แต่ก็ต้องจับตาดู เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ
นายปิติ ยังตอบคำถามที่ว่าตลาดเงิน ตลาดทุน มีการคาดการณ์ว่ารัฐบาลใหม่ นายกฯ ใหม่ อาจสร้างแรงกดดันให้ ธปท.ลดดอกเบี้ยว่า เราน้อมรับการพูดคุยทุกภาคส่วนในมุมมองการดำเนินนโยบาย ที่ผ่านมาถือว่าให้ความเห็นที่มีประโยชน์ กนง.นำไปชั่งน้ำหนัก และพิจารณาดูว่าเรามองอะไรแตกต่างกันอย่างไร จะเห็นชัดว่าแนวนโยบายมีกรรมการบางคนชั่งน้ำหนักไปอีกทิศทาง ทุกคนดูข้อมูลและชั่งน้ำหนักพอควร
"การได้มุมมองจากหลายภาคส่วนก็เป็นประโยชน์ แรงกดดันที่ผ่านมาเรามองเป็น input เพราะการทำนโยบายการเงิน และกรอบนโยบายการเงิน ค่อนข้างชัดเจนว่าเรามีความเป็นอิสระ ที่ผ่านมาทำได้ดี ไม่มีประเด็นในระยะต่อไป"