นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์เงินบาทที่ผันผวนและแข็งค่าเร็วในระยะนี้ว่า เงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินในตลาดโลก และในภูมิภาค แม้จะมีความผันผวนอยู่บ้าง แต่เมื่อเทียบกับช่วงต้นปีแล้ว แทบจะไม่เปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ดี สาเหตุการแข็งค่าของเงินบาท มาจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์เป็นสำคัญ เนื่องจากการที่ตลาดปรับมุมมองว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยเร็วขึ้น และอาจจะมากขึ้นกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับปัจจัยเฉพาะของไทย เช่น ทองคำราคาดี ทำให้มีการส่งออกทองคำมาก นอกจากนี้ การเมืองไทยในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งอาจจะช่วยมุมมองเรื่องความมีเสถียรภาพ
"การที่บาทแข็งค่า มาจากดอลลาร์ที่อ่อนลงมากกว่า..ตอนนี้เงินบาทเคลื่อนไหวใกล้เคียงเพื่อนบ้าน มีเหตุมีผล แต่ก็ต้องติดตามต่อไป" นายปิติ ระบุ
ทั้งนี้ การที่ค่าเงินบาทผันผวน อาจส่งผลกระทบกับผู้ทำธุรกิจระหว่างประเทศ ทั้งผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ในกรณีที่ไม่ได้ทำป้องกันความเสี่ยงค่าเงินไว้ แต่ก็มีทั้งฝั่งที่ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ ส่วนเงินบาทที่ผันผวนมีผลที่จำกัดต่อการจำหน่ายสินค้า เนื่องจากส่วนใหญ่สินค้าส่งออกจะตั้งราคาเป็นดอลลาร์ ซึ่งราคาในสกุลดอลลาร์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก
"ผู้ส่งออกตั้งราคาสินค้าเป็นดอลลาร์ ดังนั้นเห็นราคาดอลลาร์ไม่เปลี่ยน ไม่กระทบความต้องการซื้อของจากไทย แต่ผู้ส่งออก ได้เงินบาทที่เปลี่ยนไป แต่ดีมานด์ และการผลิตไม่เปลี่ยน การค้าตั้งราคาสินค้าเป็นสกุลดอลลาร์นั้น ปริมาณการส่งออก-นำเข้าไม่ได้ผลกระทบมากจากค่าเงิน ดังนั้นกิจกรรมเศรษฐกิจ การจ้างงาน จับจ่ายใช้สอยไม่กระทบมาก แต่ภาพย่อย อาจมีทั้งได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์" นายปิติ กล่าว