ภาคเอกชน ประกอบด้วย สภาหอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย-จีน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าหารือร่วมกับน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง พร้อมด้วย รมช.คลัง และ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอแนะถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น โดยควรช่วยเหลือประชาชนใน 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มเปราะบาง ควรจะแจกเงินเป็นเงินสดทันที ผ่านแพลตฟอร์มของรัฐบาลที่มีอยู่
2. กลุ่มที่กำลังซื้อ ทางสภาหอการค้าไทยเสนอโครงการคูณ 2 เช่น ประชาชนซื้อสินค้าราคา 100 บาท จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอีก 100 บาท
3. กลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ด้วยวิธีการเมื่อซื้อสินค้าแล้วสามารถนำไปลดภาษีได้ (Easy e-Receipt) จะทำให้เงินเข้าระบบเศรษฐกิจได้รวดเร็ว
สำหรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า คงต้องรอนายกรัฐมนตรีแถลงข้อสรุปเป็นเรื่องที่ดีที่สุด แต่ที่เรามีความเห็นตรงกัน คือรัฐบาลต้องประชาสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบแนวทางการบริหารงานของรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะไปในทิศทางใด
สำหรับเรื่องลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน เช่น ค่าไฟฟ้า หรือสินค้าที่มีความจำเป็นใช้ในชีวิตประจำวัน ทางภาคเอกชนจะช่วยในการตรึงราคาไว้ รวมถึงได้มีการพูดคุยเรื่องสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่มาตีตลาดในเมืองไทย ทำให้ SME เดือดร้อน ได้มีข้อเสนอว่า สินค้ากลุ่มไหนที่ควรทำมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping) ซึ่งไม่ได้เป็นการกีดกันทางการค้า แต่เป็นการสร้างความเป็นธรรม รวมถึงได้มีการพูดถึงเรื่องกลยุทธ์การวางแผนระยะยาวในการใช้เทคโนโลยี เพื่อเป็นการนำเข้าอุตสาหกรรมไฮเทคให้เร็วที่สุด
นายสนั่น กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอต่าง ๆ นายกรัฐมนตรีได้มีการตอบรับเป็นอย่างดี และแสดงถึงความตั้งใจที่เข้ามาทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและวางแผนร่วมกัน เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตไปได้
ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีข้อเสนอ ประกอบด้วย *มาตรการเร่งด่วน 5 ข้อ
1.การปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากสินค้านำเข้าที่ไม่มีคุณภาพและการทุ่มตลาด
2.การส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย และสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand (MiT)
3.การลดต้นทุนการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม อาทิ ต้นทุนพลังงาน ต้นทุน แรงงาน เป็นต้น
4.การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SME
5.การส่งเสริมการค้าชายแดน และพัฒนาระบบโลจิสติกส์
- มาตรการระยะกลาง ฝากให้รัฐบาลช่วยเรื่องการส่งเสริมสินค้า Made in Thailand โดยให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในโครงการนี้ เพื่อให้มีใบรับรองตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ในปี 66 สินค้า Made in Thailand เข้าไปอยู่ในสัดส่วนแบ่งการตลาดในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแล้ว 1.02 แสนล้านบาท โดยตั้งเป้าจะขยับส่วนแบ่งตลาดไปถึง 80% งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างจะอยู่ในประเทศ อย่างน้อย 5.5 แสนล้านบาท จะช่วยทำให้สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับมากขึ้น และได้นำเสนอให้เอกชนไทยซื้อสินค้า Made in Thailand มากขึ้น และสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
- มาตรการระยะยาว มีข้อเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน โดยอยากให้รัฐบาลมีมาตรการในการรักษา และสนับสนุนซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็น SME จำนวนมาก รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือซอฟพาวเวอร์ โดยมีไอเดียต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางจิวเวลรี่ เครื่องประดับของโลก เพื่อแทนประเทศฮ่องกงที่เริ่มถดถอย ซึ่งคาดว่าจิวเวลรี่จะช่วยให้ไทยมีมูลค่าปีละไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท
- เสนอรัฐบาลปรับปรุงกฏหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจมากขึ้น
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ข้อเสนอของภาคเอกชน เช่น เรื่องของกฎหมายถือเป็นประเด็นที่สำคัญ กฎหมายบางอย่างใช้มาแล้ว 30 กว่าปี ไม่เหมาะสมต่อสภาวะปัจจุบัน หากผ่านกระบวนการต่าง ๆ และได้เข้าไปทำงาน จะเร่งเข้าไปบริหารจัดการ หากผ่านกระบวนการและตั้งคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว จะหาเจ้าภาพที่จะมาคุยในแต่ละหัวข้อหรือประเด็นที่ภาคเอกชนเสนอในวันนี้ และประสานงานต่อด้วยตัวเอง รวมทั้งจะติดตามงานด้วย
นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า รัฐบาลนี้จะต้องทำงานกับใกล้ชิดกับภาคเอกชน เพราะเครื่องจักรที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจคือภาคเอกชน โดยข้อเสนอของภาคเอกชนในวันนี้ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ และมีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องนี้
สำหรับปัญหาสินค้าจากจีนที่ทะลักเข้าไทย นายพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า เป็นปัญหาที่รัฐบาลมองเห็น และต้องดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ โดยอาจต้องรักษาสมดุลการค้าการลงทุนของไทยและจีน รวมถึงประเทศคู่ค้าอื่น ๆ