นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการดำเนินนโยบายการเงินว่า ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินโดยยึดหลัก Outlook Dependent ซึ่งการพิจารณาจะขึ้นกับมุมมองที่มีต่อ 3 ปัจจัยสำคัญ ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงิน
ในเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจ จะพบว่ามุมมองไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากก่อนหน้าที่เคยประเมินไว้ โดยเศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่ระดับศักยภาพ แม้ในไตรมาส 2 การลงทุนของของภาครัฐและเอกชนจะลดลงไปบ้าง
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ แม้จะอยู่ในระดับต่ำ แต่แนวโน้มก็เริ่มจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% ซึ่งสิ่งที่สำคัญมากกว่าการทำให้เงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมาย คือ การไม่ทำให้เงินเฟ้อคาดการณ์อยู่ในระดับที่สูงเกินไป เพราะจะนำไปสู่ภาวะเงินฝืดตามมา จนทำให้การบริโภคชะลอตัว คนไม่ยอมบริโภค เพราะหวังว่าในอนาคตราคาสินค้าจะถูกลงมากกว่านี้ ซึ่งปัจจุบันภาพดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น
ส่วนเสถียรภาพการเงินนั้น หากภาคการเงินมีสัญญาณการตึงตัวรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ จนกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็พร้อมจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้น
"ถ้าสถานการณ์มีความเชื่อมโยงไปสู่ภาพการเงินที่ตึงตัว เราก็พร้อมปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดคล้องกับบริบท...จาก statement กนง.ล่าสุด ก็มีการไปวิเคราะห์หรือมองกันว่าเราพูดเรื่อง Financial Stability เยอะ ซึ่งเป็นการตีความที่ไม่ถูกต้อง เพราะเราไม่ใช่ more hawkish แต่เรา more open มากกว่า" นายเศรษฐพุฒิ ระบุ