นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือน ก.ค.67 อยู่ที่ 83,527 คัน ลดลง 22.70% จากเดือน ก.ค.66 เนื่องจากฐานปีก่อนสูง และประสบปัญหาเรื่องการขนส่งจากสถานการณ์สู้รบในตะวันออกกลาง ขณะที่มีมูลค่าการส่งออก 81,434.29 ล้านบาท ลดลง 11.71% จากเดือน ก.ค.66
ทั้งนี้ การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในช่วง 7 เดือนแรกปี 67 (ม.ค.-ก.ค.67) อยู่ที่ 602,567 คัน ลดลง 5.39% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขณะนี้ยังไม่พิจารณาปรับเป้า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังมีอัตราขยายตัวได้ดี และหวังว่าสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะคลี่คลาย ไม่ขัดแย้งเพิ่มขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ส่งผลกระทบต่อเนื่องแต่ไม่รุนแรงจนทำให้ฟีดเรือไม่เพียงพอ
"จากการสอบถามผู้ส่งออกยังมีความมั่นใจว่ายังเป็นไปตามเป้า และมีมูลค่าเกิน 1 ล้านล้านบาท" นายสุรพงษ์ กล่าว
ขณะที่มีการผลิตรถยนต์ในเดือน ก.ค.67 จำนวน 124,829 คัน ลดลง 16.62% จากเดือน ก.ค.66 เพราะผลิตขายในประเทศลดลง 40.85% ตามยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลงจากการเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเพราะหนี้ครัวเรือนสูงและเศรษฐกิจที่อ่อนแอ แต่เพิ่มขึ้น 7.34% จากเดือน มิ.ย.67 โดยจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 886,069 คัน ลดลง 17.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
"เห็นยอดผลิตเดือนนี้แล้วตกใจ แม้จะเพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. แต่ลดลงจาก ก.ค.ปีก่อนกว่า 16% เนื่องจากยอดขายในประเทศลดลง ยอดผลิตก็ต้องสอดคล้องกับยอดขาย ไม่ต้องผลิตค้างสต๊อกมาทิ้งไว้ เพราะต้นทุนคันละหลายแสน" นายสุรพงษ์ กล่าว
โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ฯ กล่าวว่า หลังจัดตั้งรัฐบาลเสร็จโดยเร็วแล้ว หวังว่าจะมีเร่งเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ระดับสุดในกลุ่มอาเซียน
สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือน ก.ค.67 มีจำนวน 46,394 คัน ลดลง 2.66% จากเดือน มิ.ย.67 และลดลง 20.58% จากเดือน ก.ค.66 เนื่องจากความเข้มงวดในการให้สินเชื่อ โดยเฉพาะรถกระบะและรถบรรทุกจากความกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 91% ของ GDP ของประเทศและเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำในอัตรา 1.5% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 จากงบประมาณรายจ่ายปีที่ล่าช้า โดยยอดขายรถยนต์ในประเทศช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 354,421 คัน ลดลง 23.71% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
"ยอดขายรถกระบะกับรถบรรทุกที่ลดลงบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนรถยนต์นั่งที่ลดลงส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มสูงขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ หากประชาชนมีรายได้ในอนาคตที่ดีขึ้น" นายสุรพงษ์ กล่าว
- ประเภท BEV ในเดือน ก.ค.67 มีจำนวน 8,332 คัน เพิ่มขึ้น 20.68% จากเดือน ก.ค.66 และนับถึงวันที่ 31 ก.ค.67 มีจดทะเบียนสะสมจำนวน 60,243 คัน เพิ่มขึ้น 21.05% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ประเภท HEV มีจำนวน 11,888 คัน เพิ่มขึ้น 99.80% จากเดือน ก.ค.66 และนับถึงวันที่ 31 ก.ค.67 มีจดทะเบียนสะสมจำนวน 83,794 คัน เพิ่มขึ้น 60.86% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ประเภท PHEV มีจดทะเบียนใหม่มีจำนวน 826 คัน ลดลง 15.46% จากเดือน ก.ค.66 และนับถึงวันที่ 31 ก.ค.67 มีจดทะเบียนสะสมจำนวน 5,722 คัน ลดลง 21.06% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
"หวังว่ารัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วจะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยให้ยอดขายในประเทศในช่วง 4 เดือนสุดท้ายดีขึ้น" นายสุรพงษ์ กล่าว