เกินคาด! ส่งออก ก.ค.พุ่ง 15.2% สูงสุดในรอบ 28 เดือน ลุ้นทั้งปีแตะ 2%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 27, 2024 13:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เกินคาด! ส่งออก ก.ค.พุ่ง 15.2% สูงสุดในรอบ 28 เดือน ลุ้นทั้งปีแตะ 2%

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนก.ค.67 โดยการส่งออก มีมูลค่า 25,720.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15.2% มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 5-8% และเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 28 เดือน นับตั้งแต่มี.ค.65

ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 27,093.8 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.1% ส่งผลให้ในเดือนก.ค. ไทยกลับมาขาดดุลการค้า 1,373.2 ล้านดอลลาร์ หลังจากที่เกินดุลการค้าในเดือนพ.ค.และ มิ.ย.ที่ผ่านมา

สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) การส่งออก มีมูลค่ารวม 171,010.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.8% การนำเข้า มีมูลค่ารวม 177,626.5 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 4.4% ทำให้ 7 เดือนแรกปีนี้ ไทยยังขาดดุลการค้า 6,615.9 ล้านดอลลาร์

เกินคาด! ส่งออก ก.ค.พุ่ง 15.2% สูงสุดในรอบ 28 เดือน ลุ้นทั้งปีแตะ 2%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. มั่นใจว่าการส่งออกของไทยในปี 67 นี้ จะอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1-2% และมีโอกาสสูงที่จะขยายตัวได้ในกรอบบน

"เราคงไม่ทบทวนเป้าที่ 1-2% และมองว่ามีโอกาสที่จะอยู่กรอบบนเป็นไปได้สูง" นายพูนพงษ์ ระบุ
*ส่งออกรายกลุ่มสินค้า

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า หากแยกประเภทการส่งออกเป็นรายกลุ่มสินค้า จะพบว่าในเดือนก.ค.นี้ มีการขยายตัวของการส่งออกในทุกกลุ่มสินค้า ทั้งสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม ดังนี้

  • สินค้าเกษตร มีมูลค่าส่งออก 2,245.6 ล้านดอลลาร์ กลับมาขยายตัว 3.7% โดยสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ยางพารา, ข้าว, ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง และแปรรูป
  • สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าส่งออก 2,118.3 ล้านดอลลาร์ กลับมาขยายตัว 14.6% โดยสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์, อาหารสัตว์เลี้ยง, อาหารทะเลกระป๋อง-แปรรูป
  • สินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่าส่งออก 20,254.2 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15.6% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ปัจจัยสนับสนุนสำคัญของการส่งออกในเดือนก.ค. ได้แก่ การฟื้นตัวของความต้องการซื้อสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก ตามการขยายตัวของเทคโนโลยีดิจิทัล และการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ที่ได้รับประโยชน์ด้านราคาที่สูงขึ้นจากภาวะอุปทาน (Supply) ในตลาดโลกที่น้อยลง

อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยกดดัน ได้แก่ ค่าระวางเรือของโลกในเดือนก.ค. สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และสินค้าส่งออกสำคัญบางรายการ ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันของสินค้าใหม่ที่เข้ามาทดแทนสินค้าเดิมในตลาดโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ

ขณะที่การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดี ตามภาพรวมเศรษฐกิจคู่ค้าที่มีสัญญาณปรับดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลัก อาทิ สหรัฐฯ, จีน, อาเซียน (5), กลุ่ม CLMV และสหภาพยุโรป สำหรับตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวสูงสุด 10 อันดับแรกในเดือนก.ค.67 ได้แก่ อันดับ 1 สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 517.5% อันดับ 2 เอเชียใต้ ขยายตัว 29.5% อันดับ 3 สหรัฐฯ ขยายตัว 26.3% อันดับ 4 แคนาดา ขยายตัว 20.3% อันดับ 5 CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ขยายตัว 19.8% อันดับ 6 อาเซียน (5) ขยายตัว 17.8% อันดับ 7 สหภาพยุโรป ขยายตัว 17.1% อันดับ 8 เกาหลีใต้ ขยายตัว 16.4% อันดับ 9 สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ขยายตัว 13.3% และอันดับ 10 จีน ขยายตัว 9.9%

นายพูนพงษ์ กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 67 ว่า จะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่กำลังปรับตัวดีขึ้น รวมถึงสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมของโลก ขณะเดียวกัน คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลจะสนับสนุนสินค้าที่เกี่ยวเนื่องให้เติบโตตลอดทั้งปี

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่กดดันการส่งออก เช่น สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ และความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้า หลังการเลือกตั้งในหลายประเทศสำคัญ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

*เป้าหมายทั้งปีโต 1-2%

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ยังมั่นใจว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยในปีนี้ จะสามารถทำได้ตามเป้าหมายการขยายตัวที่ 1-2% ทั้งนี้ สถานการณ์ตู้คอนเทนเนอร์ยังมีเพียงพอ ซึ่งผู้ส่งออกสามารถเบาใจได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่เรื่องเงินบาทแข็งค่านั้น ยอมรับว่าอาจมีผลกระทบกับคำสั่งซื้อใหม่ที่จะมีเข้ามาในช่วงปลายปีนี้ ถึงต้นปีหน้าอยู่บ้าง ซึ่งผู้ส่งออกต้องพิจารณาปัจจัยค่าเงินให้ดีก่อนตกลงทำสัญญาซื้อขายสินค้า

"เรารับคำสั่งซื้อล่วงหน้าไว้แล้ว ดังนั้นในช่วง ส.ค. ก.ย. ที่เราไป pitch ราคาไว้แล้ว อาจทำให้การทำกำไรลดลง เพราะดอลลาร์สหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว แต่สินค้า order ใหม่ที่กำลังเจรจาปลายปีนี้ ช่วง พ.ย. ธ.ค. ม.ค. ผู้ส่งออกอาจต้องพิจารณาค่าเงิบาท ให้รอบคอบ ดูการแข่งขันเป็นอย่างไร ดังนั้น (เรื่องบาทแข็ง) จะมีผลในช่วงปลายปีสำหรับ order ที่เรากำลังเจรจากันอยู่...มั่นใจส่งออกไทยโค้งสุดท้าย จะทำให้ทั้งปี บรรลุ 1-2% ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ " ประธาน สรท. ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ