ธปท. เผยสินเชื่อระบบแบงก์พาณิชย์ Q2/67 โต 0.3% ชะลอลงจาก Q2/66, NPL เร่งขึ้นเล็กน้อย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 27, 2024 14:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธปท. เผยสินเชื่อระบบแบงก์พาณิชย์ Q2/67 โต 0.3% ชะลอลงจาก Q2/66, NPL เร่งขึ้นเล็กน้อย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ในไตรมาส 2/67 สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) ขยายตัวชะลอลงที่ 0.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยสินเชื่อธุรกิจโดยรวมทรงตัว ขณะที่สินเชื่อ SMEs หดตัวต่อเนื่อง และสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลงตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่ปรับสูงขึ้น

ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing loan: NPL หรือ stage 3) ในไตรมาส 2/67 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย มาอยู่ที่ 540.8 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.84% จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ยังบริหารจัดการคุณภาพหนี้ และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง สำหรับสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (significant increase in credit risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 6.50% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (โดยส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่ยังชำระหนี้ได้ตามสัญญา แต่ถูกจัดชั้นเชิงคุณภาพ) และสินเชื่ออุปโภคบริโภค สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2567 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยหลักจากรายได้เงินปันผลตามปัจจัยฤดูกาล ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำรองปรับเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs ขนาดเล็ก ธุรกิจในกลุ่มที่ผลประกอบการอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้าง และความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลง รวมทั้งครัวเรือนบางกลุ่ม ที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งคาดว่าจะยังส่งผลให้ NPL ทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ และไม่เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (NPL cliff)

โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 1/67 ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย จากสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวชะลอลง สอดคล้องกับกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (debt deleveraging) ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP เพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามการก่อหนี้ ด้านความสามารถในการทำกำไรโดยรวม ปรับดีขึ้นจากภาคการผลิต และบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ

น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า กลุ่มที่ ธปท.ให้ความเป็นห่วง และติดตามความสามารถในการชำระหนี้ คือ กลุ่มธุรกิจ SME รายเล็ก (SSME) ที่มีวงเงิน 5 ล้านบาท ที่ใช้วงเงินสินเชื่ออุปโภคบริโภคในเสริมสภาพคล่องในธุรกิจ เนื่องจากไม่มีงบการเงินในการขอสินเชื่อ SME ซึ่งกลุ่มนี้มีสายป่านสั้น และเริ่มส่งสัญญาณได้รับผลกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้างในการแข่งขันที่ปรับลดลง รวมถึงครัวเรือนที่มีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า

"บัญชีที่ไหลเป็น NPL จะเห็นว่าเคยได้รับการช่วยเหลือมาก่อนหน้านี้ โดยในช่วงโควิด-19 หนี้เสียไม่เพิ่มขึ้น เพราะเราช่วยเหลือมากกว่าประเทศอื่นประมาณ 10% ของพอร์ตรวม ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดหลุมรายได้ และวันนี้หลุมรายได้ดีขึ้น รายได้เพียงพอในการดำรงชีพ แต่ไม่เพียงพอในการจ่ายหนี้ ทำให้หนี้เสียทยอยไหลเพิ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่น่าห่วง คือ SME รายจิ๋ว และรายย่อย หากเทียบลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือคิดเป็น 5.6 เท่าของหนี้เสียเกิดใหม่" น.ส.สุวรรณี ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ