นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "Monetary?s Policy Challenge: How to Manage the Risks in a Changing Global Environment" ในงาน Thailand Focus 2024 ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวของแต่ละสาขายังฟื้นตัวได้ไม่เท่ากัน
โดยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 /66 โตติดลบ จากผลของงบประมาณที่ล่าช้า และการส่งออกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด แต่การหดตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 4 เป็นเรื่องชั่วคราว จากนั้นในไตรมาส 1 ปีนี้ เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 1.6% ส่วนไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยเติบโต 2.3% ซึ่งเป็นการขยายตัว 0.8% จากไตรมาสแรก ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะดำเนินต่อไปในครึ่งหลังของปี โดย ธปท. คาดว่าทั้งปีจะเติบโตได้ 2.6% ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการของหน่วยงานอื่น และนักวิเคราะห์
สำหรับอัตราเงินเฟ้อในเดือนก.ค.67 อยู่ที่ 0.8% ซึ่งแม้จะยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3 % แต่เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งแม้อัตราเงินเฟ้อจะต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ยังไม่เห็นสัญญาณเงินฝืด โดยมีเพียงสินค้าบางรายการที่ราคาลดลง ยังไม่เห็นการลดลงในวงกว้าง อีกทั้งผู้บริโภคไม่ได้หยุดใช้จ่ายเพื่อรอให้ราคาสินค้าลดลงไปอีก
สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินนั้น ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 21 ส.ค.67 มีมติ 6 ต่อ 1 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ต่อปี ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงิน ธปท. ให้ความสำคัญกับแนวโน้มข้างหน้า มากกว่าที่จะอิงกับข้อมูลตลาด โดยให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องดังต่อไปนี้
1. การเติบโตของเศรษฐกิจที่คาดว่า จะโต 2.6% ในปีนี้ และ 3% ในปี 68 ระดับการเติบโตถือว่าไม่สูง แต่ก็สอดคล้องกับศักยภาพในการเติบโตระยะยาวของไทยที่ระดับ 3% บวกลบ อย่างไรก็ดี การเติบโตได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านประชากร โดยประชากรกำลังแรงงานลดลง ดังนั้น การที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตสูงกว่าระดับนี้ มีทางเดียวคือการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน การลงทุน การพัฒนาเทคโนโลยี การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะได้ผลระยะสั้นเท่านั้น ศักยภาพการเติบโตระดับนี้ ถือเป็น new normal (ภาวะปกติใหม่) ของไทย
2. เงินเฟ้อไทยกำลังกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เศรษฐกิจไม่ได้ไหลลงสู่ภาวะเงินฝืด เงินเฟ้อไทยต่างจากประเทศอื่น เงินเฟ้อภาคบริการของไทยไม่สูง ค่าเช่าทรงตัว และดึงเงินเฟ้อลง
3. เสถียรภาพการเงิน ซึ่งเป็นถือว่าเป็นปัญหาท้าทายมาก จากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% ของจีดีพี ปัญหาน่ากังวลเพราะหนี้เงินกู้บ้านของไทยมีประมาณเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น เทียบกับหนี้ครัวเรือนของประเทศพัฒนาแล้ว ที่หนี้จำนองบ้านถือเป็นส่วนใหญ่ของหนี้ครัวเรือน ยอมรับว่าแก้ไขยากและต้องใช้เวลา ธปท. ต้องการทำให้หนี้ครัวเรือนลดลงมาที่ระดับ 80% ต่อจีดีพี
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า จากที่ภาคเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่เท่ากัน โดยภาคท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องฟื้นตัวดี แต่ภาคการผลิตอ่อนแอ การฟื้นตัวของรายได้ของประชาชนไม่เท่ากัน ผู้ประกอบอาชีพส่วนตัวเช่น แม่ค้า คนขับแท็กซี่ ยังได้รับผลกระทบรายได้ยังไม่ฟื้นตัวดี หลังจากที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากช่วงโควิดระบาด แม้เศรษฐกิจมหาภาคฟื้นตัว แต่ประชาชนทั่วไปไม่ได้รู้สึกว่าฟืนตัวตามไปด้วย ขณะที่คาดว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพจะเพิ่มขึ้น แต่ไม่ถึงขั้นรุนแรง ส่วนคุณภาพสินเชื่อจะด้อยลงต่อไป
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อไปว่า นโยบายการเงินของไทย เน้นนโยบายผสมสาน ซึ่งนโยบายดอกเบี้ย ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการหลายอย่าง และพร้อมจะปรับการดำเนินนโยบาย หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้ยึดติดจนเปลี่ยนแปลงไม่ได้
"ธปท. ให้ความสำคัญกับมาตรการรองรับความเสี่ยง เพราะสถานการณ์ในโลกไม่แน่นอน คาดการณ์ไม่ได้ จึงต้องทำนโยบายเผื่อไว้หลาย ๆ ทาง นอกจากนโยบายดอกเบี้ย ก็ยังมีมาตรการอื่น ๆ เช่น การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible lending) ของสถาบันการเงินเพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้