Power of The Act: ไฟฟ้าสะอาดและมาตรฐานจริยธรรม (ทางธุรกิจ) สำหรับแบรนด์อัญมณีระดับโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 28, 2024 15:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เป็นไปได้ที่เราซื้อแหวนเพชรวงหนึ่งเพื่อมอบให้คนที่เรามีความใส่ใจและสร้างความรู้สึกที่ดีขึ้นทั้งระหว่างผู้ให้และผู้รับ ความรู้สึกที่ดีนี้จะ "ดีจริง ๆ" ก็ต่อเมื่อเพชรเม็ดนั้นถูกผลิต ส่ง และจำหน่าย โดยผ่านห่วงโซ่อุปทานที่มีความรับผิดชอบต่อโลกและสิ่งแวดล้อม ผู้ขายที่สามารถรับรองได้ว่าการทำเหมืองเพชรที่เป็นต้นกำเนิดของวัตถุดิบนั้นไม่ได้ทำให้สารเคมีอันตรายปนเปื้อนลงในดินและแหล่งน้ำ ไม่ได้ใช้แรงงานบังคับ ไม่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ การเจียระไนไม่ได้สร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อมมากเกินสมควร และคงจะเป็นการดีหากว่าโรงงานใช้พลังงานสะอาด

ความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้นเหล่านี้กำลังถูกตอบสนองโดยแบรนด์อัญมณีระดับโลกอย่าง Pandora Group บริษัทอัญมณียักษ์ใหญ่ที่มีสำนักงานใหญ่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศเดนมาร์ก ซึ่งจำหน่ายอัญมณีไปกว่า 107 ล้านชิ้นผ่านจุดจำหน่ายสินค้ากว่า 6,700 แห่งในกว่า 100 ประเทศทั่วโลกในปี ค.ศ. 2023 (ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ Pandora Group, เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2567)

*Pandora Group ให้คำมั่นเกี่ยวกับความยั่งยืนไว้อย่างไร?

เว็บไซต์ของ Pandora ในส่วนที่ว่าด้วยความยั่งยืนนั้นได้แสดงจุดยืนของ Pandora Group ว่าอัญมณีคุณภาพสูงและการมีศักยภาพทางธุรกิจที่แข็งแกร่งนั้น "ไปด้วยกันได้" กับมาตรการจริยธรรมในระดับสูง (High Ethical Standards) และกล่าวต่อไปว่า "เราสรรค์สร้างอัญมณีของเราด้วยความเคารพต่อผู้คนและโลกใบนี้" Pandora Group ให้คำมั่นว่าจะเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon) มีการหมุนเวียนทรัพยากร (Circular) และประกอบธุรกิจแบบไม่ปิดกั้น (Inclusive) และเป็นธรรม (Fair)

ในส่วนของนโยบายเกี่ยวกับการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำนั้น Pandora Group ให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 50% ในปี ค.ศ. 2030 โดยนับจากปีฐานคือ ค.ศ. 2019 โดยจะดำเนินการโดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง (Scope I) และการปล่อยจากการใช้พลังงาน (Scope II.) ให้ได้ 90% และซื้อพลังงานหมุนเวียน 100% และจะกลายเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2040

จากคำมั่นข้างต้น การซื้อพลังงานสะอาดกลายเป็นสิ่งที่ถูกรวมเข้ากับแผนการดำเนินการของ Pandora Group และสามารถแปลความต่อไปได้ว่า Pandora (ตลอดรวมถึงคนที่จะผลิตหรือให้บริการแก่ Pandora) ย่อมมีความประสงค์ที่จะตั้งฐานการผลิตในพื้นที่ที่มีระบบพลังงานที่รองรับการซื้อพลังงานหมุนเวียน 100% ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือประเทศที่มีระบบพลังงานที่สามารถจัดหาพลังงานหมุนเวียน เช่น ไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนให้กับกระบวนการผลิตของ Pandora ได้ ย่อมมีข้อได้เปรียบที่จะดึงดูดการลงทุนของ Pandora และบุคคลในห่วงโซ่อุปทาน

*เหตุใด "เวียดนาม" จึงมีแต้มต่อ

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2024 สำนักข่าว VOV เผยแพร่ข่าวว่า "Pandora จะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% เพื่อการผลิตในเวียดนาม" โดยระบุว่าโรงผลิตแห่งใหม่ของ Pandora ในเวียดนาม (เมือง Binh Duong) จะใช้เฉพาะพลังงานหมุนเวียนและจะใช้ทองคำและเงินที่ผ่านกระบวนการแปรรูปสำหรับการนำกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) โดย Pandora จะใช้เงินลงทุนราว 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสร้างตำแหน่งงานกว่า 7,000 ตำแหน่งเมื่อโรงงานเปิดทำการในปี ค.ศ. 2026

หากนำเอาคำมั่นของ Pandora Group มาคิดร่วมกับแผนธุรกิจข้างต้นก็จะเกิดโจทย์สำคัญต่อประเทศเวียดนามว่าโรงผลิตของ Pandora Group นี้จะสามารถซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน 100% ได้จริงหรือไม่ เป็นสิทธิตามกฎหมายของ Pandora ที่จะสามารถเข้าสู่ตลาดค้าปลีกไฟฟ้าเพื่อซื้อไฟฟ้าสะอาดจากผู้ขายที่อาจมิได้เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ Pandora Group สามารถเข้าสู่ตลาดค้าปลีกไฟฟ้าซึ่งมีธุรกรรมการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้โดยตรง "Direct Power Purchase Agreement (DPPA)" ได้หรือไม่?

เมื่อกล่าวถึง "สิทธิ" ก็จะต้องกล่าวถึงกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการไฟฟ้าของประเทศเวียดนามได้แก่ Electricity Law (No.28/2004/QH11) ซึ่งบัญญัติให้ประเทศเวียดนามมี "ตลาดไฟฟ้า (Electricity Markets)" โดย Article 18 ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ให้ตลาดไฟฟ้านั้นมีการพัฒนาและแบ่งออกเป็นตลาดผลิตไฟฟ้า ตลาดค้าส่งไฟฟ้า และตลาดค้าปลีกไฟฟ้า โดยกฎหมายระบุอย่างชัดเจนว่าตลาดเหล่านี้เป็นตลาดที่แข่งขันได้ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ในการจัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) สำหรับการเกิดและพัฒนาของตลาดไฟฟ้าดังกล่าว

ส่วน Article 19 นั้นระบุว่า ผู้ผลิตไฟฟ้า ผู้ประกอบกิจการระบบส่งไฟฟ้า ผู้ประกอบกิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้า ผู้ค้าส่งไฟฟ้า ผู้ค้าปลีกไฟฟ้า หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐ หน่วยบริหารจัดการธุรกรรมในตลาด และผู้ใช้ไฟฟ้า "สามารถเข้ามีส่วนร่วม" ในตลาดไฟฟ้าได้

Article 20 ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าการซื้อขายไฟฟ้าในตลาดไฟฟ้าสามารถเป็นไปได้ ระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้า ผู้ค้าส่งไฟฟ้า ผู้ค้าปลีกไฟฟ้า และผู้ใช้ไฟฟ้า โดยการซื้อขายไฟฟ้าที่เกิดขึ้นอาจเป็นการซื้อขายผ่านสัญญาตามกำหนดระยะเวลา หรือการซื้อขายแบบทันที (Spot Dealing) ก็ได้

จากข้อกฎหมายข้างต้น ย่อมมีความเป็นไปได้ว่า Pandora Group จะมีสถานะเป็นผู้ซื้อไฟฟ้าซึ่งสามารถทำสัญญาซื้อไฟฟ้าสะอาดจากผู้ผลิต ผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีกไฟฟ้าโดยผ่านตลาดไฟฟ้าตามกฎหมายได้ การวิเคราะห์ข้อกฎหมายข้างต้นทำให้เกิดคำถามตามมาอีกว่า Pandora Group จะถูกบังคับให้ต้องซื้อไฟฟ้าสะอาดจากรัฐวิสาหกิจที่เป็นเจ้าของระบบจำหน่ายและเป็นผู้จำหน่ายไฟฟ้าเดิมหรือไม่ และรัฐบาลเวียดนาม "จริงจัง" เพียงใดกับนโยบายการเปิดเสรีระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการมุ่งหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

*สัญญาณ "บวก" จาก รัฐบาลและกฎหมายของประเทศเวียดนาม

รัฐบาลเวียดนามได้ชูนโยบาย DPPA อันเป็นนโยบายที่รัฐ "ยอม" ให้มีการซื้อขายไฟฟ้าสะอาดกันได้ โดยผู้ซื้อไฟฟ้าไม่ถูกบังคับให้ต้องซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) เท่านั้น S&P Global (บริษัทที่ให้ข้อมูลด้านการเงินและการวิเคราะห์สัญชาติอเมริกัน) ได้ให้ข่าวว่ารองนายกรัฐมนตรี Trang Hong Ha ได้ลงนามใน Decree No.80/2024/ND-CP (Decree 80) เพื่ออนุญาตให้ผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนมีสิทธิขายไฟฟ้าโดยตรงให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 และได้ข้อมูลว่าก่อนหน้า Decree ฉบับนี้ EVN เป็นเพียงผู้จัดหาไฟฟ้าเพียงรายเดียวในประเทศเวียดนาม ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่มีสิทธิซื้อไฟฟ้าโดยตรงจากผู้ผลิต

CNC Counsel ซึ่งเป็นสำนักงานกฎหมายในประเทศเวียดนามได้ให้รายละเอียดของ Decree 80 ว่า DPPA ยอมให้มีการซื้อขายไฟฟ้าสองรูปแบบระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ รูปแบบที่หนึ่งคือการซื้อขายไฟฟ้าผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าของผู้ซื้อผู้ขายเอง (Private Power Lines) และการซื้อขายผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ (National Grid)

รูปแบบแรกเป็นการซื้อขายหน่วยอิเล็กตรอนไฟฟ้าระหว่างกันโดยตรงซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น "Physical DPPA" การซื้อขายและส่งมอบหน่วยไฟฟ้าในรูปแบบนี้ ผู้ผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรหมุนเวียนขอรับใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง เจรจา DPPA โดยตรงกับผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งใช้ไฟฟ้าต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 200,000 กิโลวัตต์/ชั่วโมง โดยการซื้อขายและส่งมอบหน่วยไฟฟ้านี้จะไม่มีการจ่ายหน่วยไฟฟ้าเข้าและดึงเอาหน่วยไฟฟ้าออกจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ

รูปแบบที่สองเป็นการซื้อขายไฟฟ้าแบบเสมือน (Virtual DPPA) โดยเป็นการซื้อขายระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ที่ตั้งอยู่ห่างกันและไม่มีระบบโครงข่ายไฟฟ้าหรือสายไฟที่เชื่อมโยงระหว่างกันเหมือนรูปแบบแรก ผู้ผลิตจะจ่ายหน่วยไฟฟ้าที่ตนผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนเข้าไปในระบบโครงข่ายของประเทศซึ่งเป็นของ EVN หน่วยไฟฟ้าที่ถูกจ่ายเข้าไปในระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศจะถูกซื้อ (ในตลาดค้าส่งไฟฟ้า) โดย EVN ตามราคาตลาดสำหรับการซื้อขายทันที (Spot Market Price) และขายไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้า (ผู้ซื้อ) ซึ่งใช้ไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ EVN หรืออาจเรียกได้ว่า EVN ขายไฟฟ้าต่ออีกทอดหนึ่ง (Reselling) ตามราคาค้าปลีกไฟฟ้า โดยมีข้อสังเกตว่าการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบนี้ผู้ผลิตไฟฟ้าจะต้องผลิตไฟฟ้าจากลมหรือแสงอาทิตย์เท่านั้น โดยมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ และเชื่อมต่อระบบผลิตของตนกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าและอยู่ในตลาดค้าส่งไฟฟ้าของประเทศเวียดนาม (Vietnam Wholesale Electricity Market หรือ VWEM)

สำหรับการซื้อขายไฟฟ้าแบบ virtual DPPA นั้น S&P Global ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งซื้อไฟฟ้าสะอาดจากผู้ผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้านั้น "อาจไม่ได้รับหน่วยไฟฟ้า" ที่ผู้ผลิต (ผู้ขาย) จ่ายเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ EVN ส่งผลให้เกิดคำถามขึ้นว่าผู้ซื้อจะอ้างการใช้พลังงานสะอาดได้อย่างไร เช่น หาก Pandora จ่ายเงินเพื่อซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อดำเนินการตามคำมั่นเรื่อง RE100 ของตนแต่ "ไม่รู้ว่า" หน่วยไฟฟ้าที่ตนใช้จากระบบโครงข่ายเป็นไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจริงหรือไม่ แล้วการซื้อขายนี้ก็อาจไม่บรรลุถึงเป้าประสงค์ของการทำสัญญา

สิ่งที่จะใช้ยืนยันการไฟฟ้าที่ผลิตมาว่าไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นเป็นหลักฐานที่เรียกว่า "Environmental Attributes" (โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Power of the Act EP. 33) ผู้ผลิตซึ่งขายไฟฟ้าให้กับ Pandora ตาม Virtual DPPA จะต้องโอนหลักฐานนี้ให้กับ Pandora อย่างไรก็ตาม S&P Global ได้ให้ข้อสังเกตว่า Decree 80 นั้นยังขาดรายละเอียดเกี่ยวกับโอนหลักฐานดังกล่าว เช่น ยังไม่ได้ตอบว่าจะโอนหลักฐานจากผู้ผลิตไฟฟ้าไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างไร โดยผ่านกลไกหรือระบบบัญชีใด

*ย้อนมองดูประเทศไทย

คำว่า DPPA เป็นสิ่งที่ปรากฏในข่าวเกี่ยวกับนโยบายพลังงานของประเทศ เช่น หนังสือพิมพ์มติชนรายวันเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ได้รายงานข่าวว่าในพาดหัวว่า "Direct PPA อีกกลไกดันไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ" โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า (จากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ) DPPA จะเป็นการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยผ่านระบบสายส่งของการไฟฟ้าภายใต้การให้บริการผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access) กำหนดปริมาณเอาไว้ไม่เกิน 2,000 เมกะวัตต์เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

อย่างไรก็ตาม การซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ DPPA นั้น จำเป็นต้องศึกษาผลกระทบจากการดำเนินการอย่างรอบด้านทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นขึ้นต่อการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง และต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงการพิจารณาเรื่องเสถียรภาพและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เหมาะสม เช่น ค่าบริการระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge) ค่าบริการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Connection Charge) ค่าบริการความมั่นคงระบบไฟฟ้า (System Security Charge) ค่าบริการหรือค่าปรับในการปรับสมดุลหรือบริหารปริมาณไฟฟ้า (Imbalance Charge) และค่าใช้จ่ายเชิงนโยบาย (Policy Expenses)

ผู้เขียนมองว่าทิศทางนโยบายเกี่ยวกับ DPPA นั้นเป็น "สัญญาณบวก" ที่แสดงว่าระบบพลังงานของประเทศไทยกำลังปรับตัวรองรับการกระจายตัวของการผลิตพลังงานและตอบสนองต่อความต้องการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ประการแรก DPPA ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกล่าวถึงนั้นเทียบได้กว่า Virtual DPPA ของประเทศเวียดนามภายใต้ Decree 80 หมายความว่าผู้ซื้อและผู้ขายไฟฟ้าสะอาดในรูปแบบนี้จะใช้ประโยชน์จากระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วเพื่อซื้อขายและส่งมอบไฟฟ้าแบบเสมือนได้ ประการที่สองทั้งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และ Electricity Law (No.28/2004/QH11) ของประเทศเวียดนามต่างเป็นฐานในการกำกับดูแลการประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าแบบเสมือนได้ทั้งคู่

แม้ว่ากฎหมายไทยจะไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับตลาดผลิต ค้าส่ง และค้าปลีกไฟฟ้าเหมือนดังกรณีของกฎหมายเวียดนาม และยังไม่มีกฎหมายลำดับรองที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับ DPPA เหมือนกับ Decree 80 อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็มีระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยนิยามตลาดและขอบเขตตลาดการให้บริการพลังงานที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2565 รองรับการเกิดพัฒนาตลาดผลิต ค้าส่ง และค้าปลีกไฟฟ้าสะอาดแบบกระจายศูนย์ผ่าน DPPA ได้

นอกจากนี้ กกพ. ยังอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 กำหนดเงื่อนไขการจำหน่ายไฟฟ้าผ่าน Virtual DPPA ได้ กกพ. มีอำนาจกำกับดูแลอัตราค่าบริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และกำกับดูแลให้ราคาไฟฟ้าสะอาดที่ซื้อขายกับแบบเสมือนนั้นสะท้อนต้นทุนการบริหารจัดการระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ

ข้อสังเกตประการสุดท้ายคือ Decree 80 ของประเทศเวียดนามนั้นยังขาดรายละเอียดเกี่ยวกับการโอน Environmental Attributes เพื่อให้ DPPA บรรลุผล ประเทศไทยสามารถขยับตัวและส่งสัญญาณบวกในเรื่องนี้ได้ เช่น สร้างความชัดเจนว่าประเทศไทยมีหน่วยงานที่พร้อมจะออกหลักฐานดังกล่าว และมีระบบรองรับการโอนหลักฐานนี้ที่ชัดเจน ตลอดจน มองให้เห็นว่าระบบโครงข่ายไฟฟ้านั้นถูกเข้าถึงและใช้เพื่อรองรับ Virtual DPPA ได้ ดังนั้น จึงยังไม่สายที่ประเทศไทยจะปรับตัวเพื่อดึงดูดนักลงทุนซึ่งต้องใช้ไฟฟ้าสะอาดผ่านการซื้อขายไฟฟ้าแบบเสมือน

ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)

หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ