ส่องข้อได้เปรียบไทยดึงดูดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ จับตาเทรนด์ใหม่เที่ยวแบบยั่งยืนใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 28, 2024 17:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิพัฒน์ กุหลาบขาว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) กล่าวในงาน Thailand Focus 2024: Adapting to a Changing World หัวข้อ "Thailand: Emerging as a Leading Medical Hub" ว่า ตลาดการท่องเที่ยวเพื่อการแพทย์ทั่วโลกมีขนาด 103,000 ล้านดอลลาร์ เติบโตประมาณปีละ 20% คาดว่าในปี 2032 จะมีมูลค่า 284,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน มีมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 43% ในปี 2030 จะมีมูลค่า 16,000 ล้านดอลลาร์

จุดเด่นได้เปรียบของประเทศไทยในภาคการท่องเที่ยวเพื่อการแพทย์ คือ มาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก และความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์ระดับโลก โรงพยาบาล 62 แห่งของไทยได้รับการรับรองมาตรฐานจาก Joint Commission International สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ไทยยังมีทรัพยากรธรรมชาติด้านท่องเที่ยว มีการต้อนรับที่อบอุ่น และวีซ่าที่ราคาจับต้องได้มากกว่าประเทศอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ

เทรนด์การดูแลสุขภาพเปลี่ยนแปลงไป จากการการรักษาสู่การป้องกันซึ่งมีราคาถูกกว่า คือ ถ้าดูแลร่างกายล่วงหน้า รู้ล่วงหน้าว่าจะเจ็บป่วยเป็นโรคอะไร จะดูแลสุขภาพล่วงหน้าได้ ตัวอย่าง 10-12.5% ในพวกเรามีเซลล์มะเร็ง ซึ่งถ้ารู้ล่วงหน้าจะสามารถป้องกันได้

การใช้เทคโนโลยี AI เพื่อการแพทย์ช่วยให้แพทย์วินิจฉัย และรักษาได้ตรงจุด เป็นผลดีกับคนไข้มากขึ้น

การสร้างเครือข่ายดิจิทัลเฮลท์แคร์ การร่วมมือกับพันธมิตรทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน และ มหาวิทยาลัย การดึงดูดการลงทุนและผู้ป่วยต่างชาติ โรงพยาบาลเน้นคุณภาพมาตรฐานการแพทย์ระดับบน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นโรงพยาบาลระดับโลก เหตุผลที่ผู้ป่วยเดินทางมารักษาในประเทศไทย เพราะป่วยหนัก เช่น มะเร็ง ผ่าตัดสมอง ผ่าตัดหัวใจ ซึ่งมารักษาที่ประเทศไทยไม่ต้องรอคิวนาน

กลุ่มลูกค้าของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ส่วนใหญ่มาจาก ASEAN โดย 50% เป็นคนไทย และ ASEAN อื่นๆ 50% คือ ตลาดตะวันออกกลางและ กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ Gulf Cooperation Council หรือกลุ่มประเทศ GCC เอธิโอเปีย เคนยา เอธิโอเบีย ทั้งนี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มองเห็นโอกาสในตลาดการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพจากกลุ่มนักท่องเที่ยวเมียนมา กัมพูชา บังกลาเทศ และจีน ที่เน้นเส้นทางระยะใกล้

ประเทศไทยเป็นทั้งตลาดการท่องเที่ยวเพื่อการแพทย์ และผู้นำด้านการบริการสุขภาพ ดังนั้น การท่องเที่ยวเพื่อการแพทย์และสุขภาพเป็นแหล่งรายได้สำคัญมากสำหรับประเทศไทย ร่วมกับจุดแข็งมิตรไมตรีของคนไทย ยังมีโอกาสพัฒนาได้อีกไกลด้วยความร่วมมือและการสนับสนุนจากภาครัฐ

นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง ดาวรุ่งการท่องเที่ยวไทย

ปี 2019 เป็นปีท่องเที่ยวที่ดีที่สุด ก่อนโรคระบาดโควิด มีจำนวนนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน ซึ่งนักท่องเที่ยวระยะไกล (Long Haul Markets) รวมถึงตะวันออกกลาง มีสัดส่วน 23% ปีนี้ ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ที่ 27% และตั้งเป้าหมายรายได้จากนักท่องเที่ยวคุณภาพ มีสัดส่วน 40%

ตลาดตะวันออกกลาง เดือนแรกของปี 2024 นี้ มีจำนวนนักท่องเที่ยว 585,000 คน จากตลาดดาวรุ่ง คือ ซาอุดิอาระเบีย นักท่องเที่ยวตะวันออกกลางนิยมเดินทางช่วงซัมเมอร์ ก.ค.-ส.ค. โรงเรียนปิดเทอม และสภาพอากาศร้อน ทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทาง จำนวนเที่ยวบินจากตะวันออกกลางปีนี้เติบโตขึ้น และมีแนวโน้มดีจนถึงปีหน้า สายการบินจากตะวันออกกลาง 12 ราย มีเที่ยวบินมาไทย 200 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ กลุ่มนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง ได้แก่ กลุ่มครอบครัว+GEN X 50%, กลุ่ม Millennial 20%, กลุ่มHealth & Wellness 20% และกลุ่มฮันนีมูน 10%

แนวโน้มการท่องเที่ยวปี 2024-2025 ได้แก่ การท่องเที่ยวแบบลักซูรี่ ,Slow Holidays, Gen X, AI Holiday planning และการท่องเที่ยวยั่งยืน ททท.มีสำนักงาน ททท.ดูไบ ดูแลตลาดตะวันออกกลางทั้งหมด และปีหน้าจะมีสำนักงานเพิ่มเติมที่ริยาด และวางแผนการตลาดดึงดูดลูกค้ามีศักยภาพทั้งการจัด Fam Trip, Travel trade and Roadshow

เทรนด์ที่น่าสนใจคือ Bleisure market ซึ่งเป็นการรวมการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจและการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจเข้าด้วยกัน และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนก็เป็นอีกเทรนด์หนึ่งที่น่าจับตามองเพราะจากการสำรวจพบว่า 83% ของนักท่องเที่ยวจาก UAE ยินดีที่จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นให้กับที่พักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การใช้ AI ในการวางแผนการท่องเที่ยวได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเพราะเป็นเครื่องมือที่น่าเชื่อถือ ราคาถูก และประหยัดเวลาอีกด้วย

สำหรับประเทศไทย การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นนโยบายสำคัญที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขัน ดังจะเห็นได้จากโครงการศูนย์สุขภาพขนาดใหญ่ Andaman Wellness Economic Corridor และ Hua Hin Wellness Coast ซึ่งมาตรการหนึ่งที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนและนักท่องเที่ยวได้ก็คือการทำ Roadshow ที่นำผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไปยังประเทศต่างๆ เช่น ประเทศซาอุดิอาระเบียที่ห่างหายความสัมพันธ์กับประเทศไทยไป 32 ปี การไปแสดงวิสัยทัศน์และนำข้อมูลไปให้ประเทศต่างๆ จึงเป็นมาตรการที่จำเป็น

นายอัครพล คุรุศาสตรา ผู้ช่วยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กล่าวว่า ภาครัฐไม่เคยปล่อยให้ภาคเอกชนต้องเดินเพียงลำพัง เพราะรัฐบาลมีวิสัยทัศน์เชื่อมโยงศูนย์กลางทางการแพทย์อยู่แล้วในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งประเทศไทยก็ได้สร้างความสามารถในการแข่งขันมาระยะหนึ่งแล้ว และยังมีมาตรการเสริมความสามารถในการแข่งขันด้วยแผนการทำงาน Medical and Wellness Valley ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรเฉพาะสำหรับการตั้งเมืองอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ ส่งเสริมการลงทุนทางตรง (FDI) ในการผลิตผลิตภัณฑ์ยา / เครื่องมือทางการแพทย์และสุขภาพ มีการใช้สิทธิประโยชน์การลงทุน (BOI) และมาตรการทางภาษี

นอกจากนี้ยังมีการเจรจาเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกับกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ Gulf Cooperation Council หรือกลุ่มประเทศ GCC และการออกวีซ่าทางการแพทย์ (อายุ 1 ปี) และวีซ่าเพื่อรักษาสุขภาพ (อายุ 10 ปี) ตามลำดับ และได้วางแผนการลงนามความร่วมมือทางการแพทย์ระหว่างประเทศไทยและกลุ่มประเทศ GCC ในอนาคตอันใกล้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ