นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือนก.ค.67 การจัดตั้งธุรกิจได้เข้าสู่ไตรมาส 3 ของปี 2567 มีปัจจัยทางเศรษฐกิจทั้งเชิงบวก และมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนธุรกิจเกิดขึ้นหลายประการ อาทิ นโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลที่ผลักดันให้ไทยเป็น Tourism Hub ของโลก เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าสู่เมืองหลักและเมืองรอง โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายด้านที่มีความคืบหน้า รวมถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองก็มีส่วนในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจเช่นกัน
สำหรับสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนก.ค.67 พบว่า มีจำนวน 7,837 ราย เมื่อเทียบกับเดือนก.ค.66 เพิ่มขึ้น 989 ราย หรือ 14% และทุนจดทะเบียน 23,704.59 ล้านบาท ประเภทธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 615 ราย ทุนจดทะเบียน 2,055.87 ล้านบาท, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 534 ราย ทุนจดทะเบียน 1,608.64 ล้านบาท และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 367 ราย ทุนจดทะเบียน 798.51 ล้านบาท
โดยในเดือนก.ค.67 มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนจัดตั้งเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 2 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 2,801.25 ล้านบาท ได้แก่ ธุรกิจศูนย์เก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Data Center) บริการเชื่อมต่อโครงข่าย บริการดิจิทัลและบริการที่เกี่ยวข้อง และธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอาคาร อาคารพาณิชย์ สถานที่ทำการ ถนน สะพาน เขื่อนรวมทั้งงานโยธาอื่นๆ
ส่วนการจัดตั้งธุรกิจใหม่สะสม 7 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-ก.ค.67) มีจำนวน 54,220 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 86 ราย คิดเป็น 0.16% ทุนจดทะเบียน 168,783.20 ล้านบาท ลดลง 276,512.50 ล้านบาท คิดเป็น 62.10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 สืบเนื่องมาจากปี 2566 มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประวัติการณ์ เพราะมี 2 ธุรกิจที่ทุนจดทะเบียนเกิน 100,000 ล้านบาท ได้ควบรวมและแปรสภาพ
โดยช่วง 7 เดือนแรก มีประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 4,189 ราย ทุนจดทะเบียน 17,621.98 ล้านบาท, ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 4,136 ราย ทุนจดทะเบียน 9,311.05 ล้านบาท และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 2,472 ราย ทุนจดทะเบียน 5,151.41 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.73%, 7.63% และ 4.56% จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ค.ตามลำดับ
นางอรมน กล่าวว่า การจดทะเบียนจัดตั้งปี 2567 (ม.ค.-ก.ค.) มีจำนวน 52,220 ราย ซึ่งมีอัตราการจัดเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ค.66) คาดว่าเป็นผลจากความเชื่อมั่นเกี่ยวกับมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐ เช่น การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 เริ่มมีการทะยอยเบิกจ่าย การอนุมัติโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต มาตรการภาษี เพื่อกระตุ้นเพื่อการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากขึ้น รวมทั้งภาคการเกษตรอยู่ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวช้า หนี้ครัวเรือนที่สูง เสถียรภาพทางการเมือง และความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้คาดการณ์ยอดจดทะเบียนธุรกิจทั้งปี 2567 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อน (ปี 2566) โดยคาดการณ์ตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ ของปี 2567 อยู่ที่ 90,000 - 98,000 ราย
ส่วนการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนก.ค.67 มีจำนวน 1,890 ราย เมื่อเทียบกับเดือนก.ค.66 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 23 ราย คิดเป็น 1.23% และทุนจดทะเบียน 8,831.05 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนก.ค.66 เพิ่มขึ้น 1,303.13 ล้านบาท คิดเป็น 17.31% ในเดือนนี้มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 1,000 ล้านบาทเลิกกิจการ คือ ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ การจัดการที่ดินเปล่า หรือจัดสรรที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อจำหน่าย มูลค่าทุนจดทะเบียนเลิก 1,420.00 ล้านบาท
สำหรับประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 155 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 677.32 ล้านบาท, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 127 ราย ทุนจดทะเบียน 2,150.97 ล้านบาท และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 62 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 156.13 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.20%, 6.72% และ 3.28% จากจำนวนการเลิกประกอบธุรกิจในเดือนก.ค.ตามลำดับ
ส่วนการจดทะเบียนเลิกสะสม 7 เดือนแรกของปี 2567 มีจำนวน 7,929 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ลดลง 1,035 ราย คิดเป็น 11.55% ทุนจดทะเบียนเลิกสะสมอยู่ที่ 85,579.40 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 28,446.77 ล้านบาท คิดเป็น 49.79%
"มีนิติบุคคลจำนวน 4 ราย ที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 1,000 ล้านบาท ได้จดทะเบียนเลิกกิจการ โดยมีทุนจดทะเบียนรวม 6,004.71 ล้านบาท และในเดือนพ.ค.67 มีธุรกิจด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร จำนวน 1 ราย ทุนจดทะเบียนกว่า 48,209.34 ล้านบาท ได้จดทะเบียนเลิกเช่นกัน รวมทุนจดทะเบียนเลิกกิจการทั้ง 5 ราย มีมูลค่ากว่า 54,214.05 ล้านบาท จึงทำให้ตัวเลขทุนจดทะเบียนเลิก 7 เดือนแรกสูงกว่าปกติ เมื่อวิเคราะห์เชิงลึกแล้วหากตัดธุรกิจดังกล่าวออกไป ทุนจดทะเบียนเลิกจะอยู่ที่ 31,365.35 ล้านบาท และพบว่าสัดส่วนการจดเลิกอยู่ที่ 18% ของการจัดตั้งธุรกิจใน 7 เดือนแรก ซึ่งมีความใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ที่มีสัดส่วน 17% ของการจัดตั้งธุรกิจ" นางอรมน กล่าว
โดยช่วง 7 เดือนแรก มีประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสะสม สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 758 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 1,886.50 ล้านบาท, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 467 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 7,014.72 ล้านบาท และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 259 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 613.34 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.56%, 5.89% และ 3.27% จากจำนวนการเลิกประกอบธุรกิจตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ค. ตามลำดับ
ส่งผลให้ ณ ปัจจุบัน (ข้อมูล 31 ก.ค.67) มีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวมทั้งสิ้น 1,931,454 ราย ทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 30.22 ล้านล้านบาท โดยมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่จำนวน 928,369 ราย ทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 22.28 ล้านล้านบาท