น้ำท่วมกระทบพื้นที่เกษตรแล้วกว่า 7 แสนไร่ เร่งให้ความช่วยเหลือเยียวยา-ฟื้นฟู

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 29, 2024 17:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น้ำท่วมกระทบพื้นที่เกษตรแล้วกว่า 7 แสนไร่ เร่งให้ความช่วยเหลือเยียวยา-ฟื้นฟู

จากสถานการณ์อุทกภัย และปริมาณฝนที่ตกมากในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและลุ่มน้ำ ขณะนี้ (29 ส.ค.) มีพื้นที่การเกษตรด้านพืช ได้รับผลกระทบ 33 จังหวัด และประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว จำนวน 21 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด พะเยา จันทบุรี พิจิตร กาญจนบุรี ตาก ปราจีนบุรี เพชรบูรณ์ กาฬสินธุ์ ตราด ขอนแก่น นครนายก แพร่ พิษณุโลก อุดรธานี เลย เชียงราย แม่ฮ่องสอน และน่าน เบื้องต้นมีเกษตรกร 112,049 ราย พื้นที่ได้รับผลกระทบ 701,525 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 588,231.25 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 86,534.25 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่นๆ 26,759.50 ไร่

น้ำท่วมกระทบพื้นที่เกษตรแล้วกว่า 7 แสนไร่ เร่งให้ความช่วยเหลือเยียวยา-ฟื้นฟู

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ประเมินสถานการณ์เบื้องต้น และรายงานพื้นที่การเกษตรประสบภัยพิบัติ พร้อมจัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่เกษตรกร

โดยได้มีการตรวจสอบเส้นทางน้ำไหล เสริมคันกั้นน้ำในจุดที่มีความเสี่ยง เตรียมเครื่องสูบน้ำหรืออุปกรณ์สำหรับระบายน้ำเพื่อลดการแช่ขังซึ่งเป็นสาเหตุของโรคพืช โดยจะต้องสำรวจแปลงเกษตรและพื้นที่ใกล้เคียงในการรองรับหรือเป็นทางผ่านของการระบายน้ำด้วย ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง เกษตรกรควรงดการใส่ปุ๋ยหรือปัจจัยการผลิต เพื่อลดความสูญเสียรายได้และลดการเพิ่มต้นทุนการเกษตรไปโดยไม่เกิดประโยชน์ รวมทั้งควรจัดเก็บเครื่องมือการเกษตรในที่ปลอดภัยป้องกันความเสียหายด้วย

นายพีรพันธ์ กล่าวว่า การดำเนินการให้ความช่วยเหลือของกรมส่งเสริมการเกษตร กรณีพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหาย เกษตรกรจะได้รับความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2564

โดยเกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย โดยจะได้รับความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้สั่งการให้เตรียมการสนับสนุนการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยศูนย์ขยายพันธุ์พืช (ศขพ.) จำนวน 10 แห่ง ได้จัดเตรียมเมล็ดพันธุ์และต้นพันธุ์พืชไว้พร้อมแล้ว ซึ่งเป็นพืชอายุสั้นที่เกษตรกรสามารถนำไปปลูกเพื่อเป็นอาหาร ลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวและเพิ่มรายได้ เช่น เมล็ดพันธุ์พืชผัก จำนวน 92,000 ซอง ประกอบด้วย พริก มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ถั่วพู และกระเจี๊ยบเขียว ต้นพันธุ์พืชผักพืชอาหาร จำนวน 28,000 ซอง และต้นพันธุ์ไม้ผลไม้ยืนต้น

นอกจากนี้ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านการอารักขาพืช (ศทอ.) จำนวน 9 แห่ง ได้ดำเนินการจัดเตรียมเชื้อราไตรโคเดอร์มา ทั้งแบบพร้อมใช้ และหัวเชื้อขยาย พร้อมสนับสนุนเพื่อให้เกษตรกรนำใช้ในการฟื้นฟูป้องกันเชื้อสาเหตุโรคพืชสำหรับพื้นที่เพาะปลูกไม้ผลหลังน้ำลด และยังเปิดจุดบริการซ่อมเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยให้กับเกษตรกร

*พื้นที่ประมงเสียหายกว่า 5 พันไร่ มูลค่ากว่า 85 ลบ.

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. เป็นต้นมา ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แพร่ กรมประมง ได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่เร่งสำรวจความเสียหายของเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ (ด้านการประมง) ในพื้นที่ 4 จังหวัด เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ส.ค. 67) พบพื้นที่ได้รับผลกระทบแล้ว 34 อำเภอ เกษตรกร จำนวน 7,405 ราย พื้นที่ได้รับความเสียหาย 5,638.57 ไร่ ปริมาณการมูลค่าความเสียหาย 85,717,602 บาท วงเงินช่วยเหลือ 33,608,791.04 บาท

ทั้งนี้ กรมประมงจะเร่งดำเนินการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยตามระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2564 โดยมีอัตราการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้

1. กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล หรือหอยทะเล ไร่ละ 11,780 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่

2. ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆ นอกจากข้อ 1. ที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าวหรือร่องสวน (คิดเฉพาะพื้นที่เลี้ยง) ไร่ละ 4,682 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่

3. สัตว์น้ำตามข้อ 1. และข้อ 2. ที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ หรือที่เลี้ยงในลักษณะอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันตารางเมตรละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตารางเมตร ทั้งนี้ หากคิดคำนวนพื้นที่เลี้ยงแล้ว ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยพิบัติรายใด จะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงิน ต่ำกว่า 368 บาท ให้ช่วยเหลือในอัตรารายละ 368 บาท

*เตือน 11 จ.ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เตรียมรับมือสถานการณ์

ตามที่กรมชลประทานได้มีหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา (วันที่ 27 ส.ค. 67) โดยแจ้งเตือน 11 จังหวัด ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 11 จังหวัด เฝ้าติดตามและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด กรมประมงขอประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเตรียมการเฝ้าระวัง ป้องกัน และพร้อมรับมือกับสถานการณ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ