สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ค.67 อยู่ที่ระดับ 96.74 เพิ่มขึ้น 1.79% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.66 เนื่องจากการส่งออกที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 28 เดือน การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐกลับมาสู่ภาวะปกติ และเทศกาลการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และภาคการท่องเที่ยวขยายตัว ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขยายตัว เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมการกลั่นปิโตรเลียม เป็นต้น
"เดือนนี้ตัวเลขเป็นบวก สำนักงานฯ เริ่มมองเห็นสัญญาณการฟื้นตัว รวมถึงการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ดิขึ้น ดัชนีเดือนหน้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากยอดนำเข้าสินค้าทุน ขอดูตัวเลขเศรษฐกิจโลกและเงินเฟ้ออีกสักเดือน เดือนหน้าจะแถลงอีกครั้งว่าจะปรับเป้าหรือไม่" นายกฤศ จันทร์สุวรรณ รองผู้อำนวยการ สศอ. กล่าว
นายกฤศ กล่าวว่า สถานการณ์ภาคการผลิตของไทยกลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังจากภาคการส่งออกที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 28 เดือน ตั้งแต่เดือน มี.ค.65 ซึ่งการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัว 10.70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งเศรษฐกิจโลกแสดงสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดย IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2567 และการท่องเที่ยวในประเทศที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นถึง 36 ล้านคนในปีหน้า รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้การอุปโภคบริโภคและ การลงทุนภาครัฐเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนก.ค. 67 ส่งผลให้ดัชนี MPI ภาพรวม 7 เดือนแรกเฉลี่ยอยู่ที่ 97.69 หดตัวเฉลี่ย 1.48% โดยปัจจัยที่ส่งผลลบต่อภาคการผลิต ได้แก่ ปัญหาขาดกำลังซื้อภายในประเทศ หนี้ครัวเรือน และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต รวมถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศทะลักเข้าไทย ผู้บริโภคมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้านำเข้ามากขึ้น เนื่องจากราคาถูกกว่า
- น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 35.29% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เป็นหลัก เนื่องจากปริมาณผลปาล์มเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ผู้ผลิตเน้นส่งออกไปอินเดีย จีน ปากีสถาน และยุโรป เนื่องจากราคาในตลาดโลกสูงกว่าในประเทศและค่าเงินบาทอ่อนตัว
- ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.70% จากผลิตภัณฑ์ถุงมือยางทางการแพทย์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ และยางผสม เป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากตลาดยุโรป อินเดีย และจีน รวมถึงมีสต๊อกน้ำยางอยู่จำนวนมากจึงเร่งผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น
- เครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26.91% จากผลิตภัณฑ์ครื่องปรับอากาศ เป็นหลัก ตามสภาพอากาศทั่วโลกที่มีอุณภูมิสูงขึ้น ประกอบกับผู้ผลิตพัฒนาคุณภาพสินค้า รวมทั้งจัดกิจกรรมทางการตลาดเพื่อเข้าถึงและตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น
- ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.11% จากรถบรรทุกปิคอัพ และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก เป็นหลัก ตามการหดตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หนี้ครัวเรือนสูง ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง และสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ
- ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.96% จาก Integrated circuits (IC) เป็นหลัก โดยเป็นไปตามภาวะตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลก และผลกระทบจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์
- คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.02% จากผลิตภัณฑ์เสาเข็มคอนกรีตและพื้นสำเร็จรูปคอนกรีต เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ยอดโอนบ้านใหม่ลดลง และสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ
อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมยังคงเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยกดดันอื่น ๆ เช่น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้าของบางประเทศคู่ค้าหลัก เช่น ยุโรปที่ต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สาธารณะและภาระด้านสิ่งแวดล้อม การนำเข้าสินค้าราคาถูกที่ล้นตลาดซึ่งกดดันการแข่งขันในประเทศ อีกทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก นอกจากนี้ ปัญหาหนี้สินครัวเรือนในประเทศและอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงต้นทุนพลังงานและค่าจ้างที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ล้วนเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อวางแผนและปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปีข้างหน้า
ด้านระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือน ส.ค.67 ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังทั้งหมด ความเชื่อมั่นและการลงทุนหดตัวลง เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ซบเซา ส่งผลต่อการบริโภคและการค้าในประเทศ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศเข้าสู่ภาวะเฝ้าระวัง สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูง รวมถึงสหรัฐฯ มีความไม่แน่นอนของนโยบายการค้ากับจีน
"ช่วงครึ่งปีหลังก็ต้องรอดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความคืบหน้าการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน" นายกฤศ กล่าว