ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ และกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) คาด เงินบาทอาจกลับมาอ่อนค่าในปีนี้ หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดอัตราดอกเบี้ยไม่ถึง 1% ในปี 2567 มองนโยบาย "โดนัล ทรัมป์" หนุนให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) ระบุว่า หลังจากที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินปัจจัยพื้นฐาน จากเกือบ 37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือนมิ.ย. มาอยู่ที่ประมาณ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ นั้น คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ ค่าเงินบาทจะพลิกกลับมาอ่อนค่าได้ โดยมีเป้าหมายสิ้นปีอยู่ที่ประมาณ 34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 2 ปัจจัย คือ
1. ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยไม่มากถึง 1% ตามที่ตลาดคาดหวัง
2. หากนายโดนัล ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดี จะมีนโยบายที่เอื้อให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า
ดังนั้น นักลงทุนจะต้องติดตามปัจจัยเหล่านี้อย่างใกล้ชิด ทั้งการประชุม Fed ครั้งต่อไปในวันที่ 18 ก.ย. และการดีเบตของผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 10 ก.ย.นี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยชี้ชะตาต่อค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี 2567
"ตลาดซื้อขายล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ชี้ว่านักลงทุนคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยลงรวม 1% ในการประชุม Fed ที่เหลือเพียง 3 ครั้งในปีนี้ แสดงให้เห็นว่า ตลาดคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยมากเป็นพิเศษ หรือลดดอกเบี้ยประมาณ 50bps ในการประชุมครั้งใดครั้งหนึ่งในปีนี้ ซึ่ง TISCO ESU มองว่ามีโอกาสน้อยที่จะเป็นไปตามตลาดคาด เพราะการลดดอกเบี้ยมากกว่า 25bps ต่อครั้งนั้น มักจะเกิดขึ้นเฉพาะในตอนที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวอย่างชัดเจน แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง ดังนั้น Fed จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยมากเป็นพิเศษในเร็วๆ นี้" บทวิเคราะห์ ระบุ
ทั้งนี้ หาก Fed ลดดอกเบี้ย 25bps ในการประชุมเดือนก.ย.67 และส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปในการประชุมครั้งถัดไป ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจพลิกกลับมาแข็งค่า และกดดันให้ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าได้ในระยะสั้น
นายคมศร กล่าวด้วยว่า ยังมีอีกปัจจัยที่จะกำหนดทิศทางของค่าเงินในช่วง 2-3 เดือนนี้ ได้แก่ แนวโน้มการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยเฉพาะคะแนนนิยมของทรัมป์ เนื่องจากนโยบายหลักในการหาเสียงของทรัมป์นั้น มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า ได้แก่
1. นโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนถึง 60% และจากประเทศอื่นๆ 10% ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และส่งผลให้ Fed ลดดอกเบี้ยน้อยลง ในขณะที่การนำเข้าสินค้าที่ลดลง จะทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อีกเช่นกัน
2. นโยบายการเนรเทศแรงงานต่างด้าวผิดกฏหมายออกนอกประเทศ ซึ่งจะทำให้จำนวนแรงงานลดลง ธุรกิจจำต้องขึ้นค่าแรงเพื่อดึงดูดแรงงานในประเทศ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิต และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตามลำดับ
3. นโยบายการลดภาษีนิติบุคคล และภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐฯ ขาดดุลการคลังมากขึ้น และจำเป็นต้องกู้เงินโดยการออกพันธบัตรมากขึ้น อุปทานพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้บอนด์ยิลด์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ