ธปท. เผยเศรษฐกิจไทยก.ค.ฟื้นตัว จากส่งออก-ท่องเที่ยว เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 30, 2024 14:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธปท. เผยเศรษฐกิจไทยก.ค.ฟื้นตัว จากส่งออก-ท่องเที่ยว เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการเงินเดือนก.ค.67 ว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมปรับดีขึ้น หลังชะลอลงในเดือนก่อน (มิ.ย.67) ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ โดยการส่งออกสินค้า และรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวเนื่องขยายตัว ด้านการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากเดือนก่อน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว

"เศรษฐกิจไทยเดือนก.ค. กลับมาขยายตัวได้จากเดือนก่อนที่ชะลอตัว โดยมีการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก รวมถึงรายรับจากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น" น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. และโฆษก ธปท. ระบุ

ธปท. เผยเศรษฐกิจไทยก.ค.ฟื้นตัว จากส่งออก-ท่องเที่ยว เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ และผู้บริโภคยังลดลง ส่วนหนึ่งจากความกังวลด้านเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำ และลงทุนของรัฐบาลกลาง ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ หดตัวตามการเบิกจ่ายของโครงการด้านคมนาคม

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าตามหมวดอาหารสด จากผลของฐานที่ต่ำในปีก่อน และจากราคาผลไม้ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งอัตราเงินเฟื้นพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น จากหมวดอาหารสำเร็จรูป สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจากดุลการค้าตามมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้นจากการจ้างงานทั้งในภาคการผลิตและบริการ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมที่ปรับเพิ่มขึ้น

โฆษก ธปท. กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งจากการเร่งส่งออกสินค้า เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาความล่าช้าในการขนส่งสินค้าทางเรือ โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นในหลายสินค้าได้แก่ 1) อิเล็กทรอนิกส์ ตามการส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์สื่อสารไปมาเลเซีย แผงวงจรรวมไปมาเลเซีย และยุโรป รวมทั้งคอมพิวเตอร์ไปไต้หวัน และฮ่องกง 2) สินค้าเกษตรแปรรูป ตามการส่งออกน้ำมันพืชไปอินเดีย และยางสังเคราะห์ไปจีน และ 3) ผลิตภัณฑ์เคมี และปิโตรเคมีภัณฑ์ จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการขยายกำลังการผลิตสารเคลือบเคมีในอินเดียเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าในบางหมวดปรับลดลงจากเดือนก่อน อาทิ รถกระบะไปออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และตะวันออกกลาง

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดือนก.ค.อยู่ที่ 3.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากในเดือนมิ.ย.ซึ่งอยู่ที่ 2.7 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มตะวันออกกลาง และอินเดีย ปรับลดลงหลังจากเร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติปรับเพิ่มขึ้น อาทิ มาเลเซีย จีน รัสเซีย และเยอรมนี โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่ต้นปี - 25 ส.ค.67 อยู่ที่ 23.1 ล้านคน สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามค่าใช้จ่ายต่อหัวที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวสัญชาติรัสเซีย และเยอรมนี

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะ 1) หมวดยานยนต์ จากการผลิตเพื่อรอส่งออก เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการขนส่ง จากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง 2) หมวดยางและพลาสติก ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางที่เพิ่มขึ้น 3) หมวดอื่นๆ จากการผลิตเครื่องจักร อาทิ มอเตอร์ไฟฟ้าและหม้อแปลง อย่างไรก็ตาม การผลิตหมวดปิโตรเลียมปรับลดลง หลังเร่งผลิตไปในเดือนก่อนหน้า

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น จากทั้งการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และด้านก่อสร้าง โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุน ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ และพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่ยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างปรับลดลงตามยอดจำหน่ายเสาเข็มคอนกรีต และเครื่องสุขภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของภาคธุรกิจยังปรับลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ และภาคการค้า

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายในหมวดบริการเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมขนส่งผู้โดยสาร ประกอบกับหมวดสินค้ากึ่งคงทน และสินค้าคงทนเพิ่มขึ้น หลังลดลงมากในเดือนก่อน ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทน ปรับลดลงตามปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังลดลงต่อเนื่อง จากความกังวลด้านค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานในประเทศ และเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่ำ รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมือง

ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวดสินค้า โดยหลักจาก 1) วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ตามน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นจากด้านปริมาณเป็นสำคัญ และการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า จากไต้หวัน และเกาหลีใต้ 2) สินค้าทุนไม่รวมเครื่องบิน ตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์จากไต้หวัน และ 3) สินค้าอุปโภคบริโภค ตามการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีน

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน ขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง ภายหลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายค่าบำเหน็จ บำนาญ ค่ารักษาพยาบาล และค่าตอบแทนพนักงานของรัฐ สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัว จากการเบิกจ่ายโครงการลงทุนด้านคมนาคม และชลประทาน ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว ตามการเบิกจ่ายของโครงการด้านคมนาคม

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.83% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ในหมวดอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน โดยหมวดอาหารสดเพิ่มขึ้นจากผลของฐานต่ำในปีก่อน และจากราคาผลไม้ที่เพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ลดลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 0.52% เพิ่มขึ้นจากหมวดอาหารสำเร็จรูป สำหรับอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ลดลงจากผลของฐานราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่สูงในปีก่อน

ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้น สะท้อนจากการจ้างงานในระบบประกันสังคม ทั้งในภาคการผลิตและบริการ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมที่ปรับเพิ่มขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจากดุลการค้า ตามมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน

ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจ โดยรวมลดลงจากเดือนก่อน ตามการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ในธุรกิจกลุ่มพลังงาน อย่างไรก็ดี การระดมทุนผ่านตลาดทุนเพิ่มขึ้นจากธุรกิจผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มผลิตปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ ประกอบกับการระดมทุนผ่านสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจขนส่งและก่อสร้าง

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเฉลี่ยแข็งค่าขึ้น เนื่องจาก 1) ตลาดปรับเพิ่มคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังตัวเลขเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด 2) การแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินเยน จากธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่ตลาดคาด และ 3) แรงกดดันจากราคาทองคำที่เพิ่มขึ้น

โฆษก ธปท. กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวและบริการ ขณะที่การส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังทยอยฟื้นตัว แต่มีบางอุตสาหกรรมที่จะยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รายรับธุรกิจ และรายได้ครัวเรือนในบางกลุ่มยังเปราะบาง

ทั้งนี้ ระยะต่อไปต้องติดตาม 1.ผลของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการรัฐ 2.การฟื้นตัวของการส่งออกและการผลิต และ 3.ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ