น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการแข็งค่าของเงินบาทว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมาจากหลายด้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากปัจจัยภายนอก ดังนั้นในแง่แนวโน้มหรือ trend ก็ต้องให้เป็นไปตามทิศทางของโลก เพียงแต่ ธปท.จะให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความผันผวนสูงอย่างต่อเนื่องมากกว่า โดยจะดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากเกินไป จนส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจไม่สามารถปรับตัวรับกับความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนได้
"สิ่งที่เรามอง คือเรื่องของความผันผวนมากกว่า ในแง่แนวโน้ม ก็คงต้องเป็นไปตามนั้น เพราะปัจจัยเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทส่วนใหญ่ มาจากภายนอก ก็ต้องเป็นตามนั้น เพียงแต่เราต้องดูไม่ให้ผันผวนเกินไป และไม่ให้ภาคธุรกิจรู้สึกว่าไม่สามารถปรับตัวได้ทัน" โฆษก ธปท.กล่าว
พร้อมระบุว่า ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการภาคธุรกิจ มีความสามารถในการรับมือกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้มากขึ้น โดยเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงได้ดี ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีความเข้มแข็ง ภายใต้ภาวะการเงินโลกในปัจจุบันที่มีความผันผวนสูงขึ้น
"ด้วย trend และภาวะการเงินโลกในปัจจุบันที่มีความผันผวนสูง และเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทุกคนต้องเก่งขึ้นไปด้วยกัน ถ้ามุมที่แบงก์ชาติดู คงดูในมุมที่มีความ "ผันผวนสูงเกินไปอย่างต่อเนื่อง" แต่เราก็เห็นนักธุรกิจใช้ option มากขึ้น น่าจะเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่เหมาะสม" น.ส.ชญาวดี ระบุ
โฆษก ธปท. ยังกล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการคลัง จะพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย ในการดำเนินการเรื่องการใช้ภาษีเพื่อช่วยเหลือหรืออุดหนุนผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ (Negative Income Tax) ซึ่งเป็นข้อเสนอของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากจะส่งผลหลายด้าน ซึ่งอาจมีทั้งผลดี ผลเสีย และผลข้างเคียง
"ต้องไปศึกษา เพราะกระทบหลายด้าน ทั้งรายรับของภาครัฐ รายจ่าย รวมทั้งผลดี ผลเสีย ผลข้างเคียง คงต้องไปศึกษาเพิ่มเติมก่อน" น.ส.ชญาวดี ระบุ