นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยในโอกาสครบ 1 ปีขับเคลื่อนนโยบายพลังงานตามแนวทาง รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง ซึ่งวางเป้าหมายไว้เป็นบันได 5 ขั้นว่า ในช่วง 1 ปีแรกสามารถดำเนินการไปถึงบันไดขั้นที่ 3 แล้ว และคาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายทั้งหมดได้ในอนาคตอันใกล้นี้
เป้าหมายของ ?บันไดขั้นที่ 1? ช่วง 6 เดือนแรกของการทำงานในฐานะ รมว.พลังงาน ก็คือ การตรึงราคาพลังงานเชื้อเพลิง ทั้งค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมัน และราคาก๊าซหุงต้ม เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไม่ให้สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ขณะเดียวกัน ก็ศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทั้งหมด เพื่อเตรียมหาช่องทางแก้ไขปัญหาด้านพลังงานที่หมักหมมมานานไม่ต่ำกว่า 40 ปี โดยเฉพาะปัญหาเรื่องน้ำมัน และค้นหาวิธีการที่จะรู้ต้นทุนราคาน้ำมันที่กระทรวงพลังงานไม่มีข้อมูลที่แท้จริง และกฎหมายหลายฉบับยังไม่เอื้ออำนวยต่อการบริหารจัดการ ทำให้กระทรวงพลังงานไม่มีอำนาจในการดำเนินการ
?บันไดขั้นที่ 2? คือ การหาช่องทางตามกฎหมายปัจจุบันเพื่อให้รู้ต้นทุนราคาน้ำมัน และพบว่ามีช่องทางที่แฝงอยู่ในกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง จนสามารถออกเป็นประกาศกระทรวงพลังงานที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุนราคาน้ำมัน เป็นครั้งแรกในรอบ 51 ปี โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การรู้ต้นทุนราคาน้ำมันที่แท้จริงทำให้ทราบถึงปัญหาที่จะต้องแก้ไข และได้นำไปดำเนินการต่อใน ?บันไดขั้นที่ 3? คือ การรื้อระบบการค้าน้ำมัน ซึ่งต้องหาข้อมูลจำนวนมากเพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการและการยกร่างกฎหมายใหม่ให้ครบวงจร โดยขณะนี้ได้ยกร่างต้นฉบับกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมันซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของ ?บันไดขั้นที่ 5? เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยร่างกฎหมายมีทั้งหมด 180 มาตรา อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายและพลังงาน โดยกฎหมายฉบับนี้จะกำหนดให้การปรับราคาน้ำมันทำได้เดือนละหนึ่งครั้ง ไม่ใช่ปรับทุกวัน และให้ปรับราคาได้ตามความเป็นจริงของต้นทุนน้ำมัน โดยจะนำระบบ Cost Plus ซึ่งหมายถึงระบบที่คิดราคาตามต้นทุนที่แท้จริง เข้าใช้แทนการอ้างอิงราคาน้ำมันต่างประเทศและมีอีกหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชน กฎหมายฉบับนี้จะดูแลไปถึงเรื่องของการจำหน่ายก๊าซหุงต้มด้วย
ในกฎหมายฉบับนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ให้บริการสาธารณะกุศล รวมไปถึงสหกรณ์การเกษตร การประมง สามารถจัดหาน้ำมันมาใช้ได้เอง เพราะถือเป็นการค้าเสรีอย่างแท้จริง ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีในการหาพลังงานของตัวเอง ถ้าหากผู้ประกอบการสามารถจัดหาน้ำมันมาใช้เองได้ในราคาที่ถูกกว่าราคาจำหน่ายหน้าปั๊ม ก็สามารถดำเนินการได้เลย จะทำให้ต้นทุนน้ำมันของเกษตรกร ชาวประมง ผู้ประกอบการขนส่งลดลงได้ทันที เมื่อผู้ประกอบการสามารถจัดหาน้ำมันได้ในราคาถูก ต้นทุนก็จะลดลง และเมื่อลดภาระเรื่องราคาน้ำมันแล้ว ก็ต้องลดราคาสินค้าให้ประชาชนด้วย
"กฎหมายที่ผมพูดถึงข้างต้น ผมร่างเองทั้งหมด ผมเริ่มทำมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 หลังจากที่ผมได้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับต้นทุนราคาน้ำมัน ซึ่งผมใช้เวลาเที่ยงคืนถึงตี 3 แทบทุกคืน เพื่อร่างกฎหมายฉบับนี้" นายพีระพันธุ์กล่าว
สำหรับ ?บันไดขั้นที่ 4? ซึ่งกำลังเร่งดำเนินการในขณะนี้ คือ การจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถควบคุมราคาได้เอง อยู่ระหว่างจัดเตรียมร่างกฎหมายเกี่ยวกับการสำรองน้ำมันของประเทศ หลักการคือจะนำน้ำมันสำรองนี้มาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะเปลี่ยนกองทุนน้ำมันฯ ที่ใช้เงินและสร้างหนี้สาธารณะ ให้กลายมาเป็นทรัพย์สินของประเทศต่อไป
"กองทุนน้ำมันฯ ที่มีน้ำมันสำรองของประเทศ จะเป็นทรัพย์สินของประเทศไม่ใช่ภาระหนี้สินอีกต่อไป ซึ่งตอนนี้ผมเริ่มต้นทำเรื่องนี้แล้ว และเป็นที่น่ายินดีที่ผมนำเรื่องนี้หารือกับทางซาอุดิอาระเบียในช่วงที่เดินทางไปประชุม ทางซาอุฯ เขาเห็นด้วยในหลักการที่จะสนับสนุน พร้อมๆ กับเรื่องการลงทุนด้านการผลิตไฮโดรเจนที่จะเป็นพลังงานแห่งอนาคตอีกอย่างหนึ่ง" นายพีระพันธุ์กล่าว
ในปีที่ 2 ของการดำเนินงาน คาดว่าเป้าหมายสุดท้าย ?บันไดขั้นที่ 5? คือ การออกกฎหมายสร้างระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ และกฎหมายกำกับกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงกฎหมายส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชนอย่างยั่งยืน จะสำเร็จได้ในเร็ววัน
ด้านไฟฟ้า เรื่องราคาค่าไฟฟ้า ยังคงรักษานโยบายที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชน โดยในช่วงแรกที่ได้ปรับราคาค่าไฟฟ้าให้ลงมาอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ก่อนที่จะขยับขึ้นมาเล็กน้อยเป็น 4.18 บาทต่อหน่วย สำหรับประชาชนทั่วไป เนื่องจากราคาก๊าซในตลาดโลกปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่ประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วยต่อเดือน ก็ยังใช้ไฟฟ้าที่ราคา 3.99 บาทต่อหน่วยเหมือนเดิม โดยพยายามตรึงราคาค่าไฟฟ้าไว้ให้ถึงที่สุด หากไม่สามารถลดได้ก็ต้องไม่ปรับขึ้น
"ต้นทุนสำคัญที่เป็นตัวแปรให้ค่าไฟแพงอยู่ที่ราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง แต่ไม่มีใครลงมือแก้ไขทั้ง ๆ ที่ทราบปัญหา ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ผมได้บริหารจัดการหลายๆ ด้านรวมทั้งการปรับโยกการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยให้ถูกต้องเหมาะสม เพราะที่ผ่านมา ก๊าซธรรมชาติที่ขุดได้จากอ่าวไทยจำนวนหนึ่งถูกนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และซื้อขายในราคาเดียวกับก๊าซหุงต้มของประชาชน ซึ่งเป็นการกำหนดราคาแบบไม่ถูกต้อง" นายพีระพันธุ์กล่าว
อย่างไรก็ดี เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงค่าไฟที่ถูกลงโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้จากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) และขจัดปัญหาความยุ่งยากในการติดตั้งและการขออนุญาต กระทรวงพลังงานเตรียมออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อที่จะกำกับดูแลให้การติดตั้งระบบโซลาร์บนหลังคาบ้าน เพื่อติดตั้งได้สะดวกและง่ายขึ้น และมีมาตรการสนับสนุนเงินทุนในการติดตั้ง การหักค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษี โดยคาดว่าจะเสร็จพร้อม ๆ กับกฎหมายน้ำมันภายในปลายปี 2567 นี้ เพื่อมีส่วนช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากภาระค่าไฟหลักที่ต้องปรับทุก 4 เดือน
รวมทั้ง เตรียมสนับสนุนการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีและอุปกรณ์สำหรับการติดตั้งระบบ Solar Rooftop แบตเตอรี่สำหรับกักเก็บพลังงานไว้ใช้ในเวลากลางคืนในราคาถูก ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลอง เบื้องต้นก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ระบบนี้สามารถใช้กับเครื่องแอร์ได้ 3 เครื่อง ตู้เย็น 1 เครื่อง ประกอบด้วยแผงโซลาร์ เครื่องอินเวอร์เตอร์ และแบตเตอรี่ ทั้งหมดจะอยู่ในวงเงินประมาณ 30,000 บาท ชึ่งจะเป็นราคาต้นทุนการผลิตไม่รวมค่าบริหารจัดการ สามารถใช้ไฟได้ทั้งกลางวันและกลางคืน
"ผมมั่นใจว่าในรอบปีที่ 2 ที่ผมดูแลกระทรวงพลังงาน จะมีผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกมาจำหน่ายให้แก่พี่น้องประชาชนในราคาถูก ซึ่งจะลดภาระให้ประชาชนหลุดพ้นจากปัญหาค่าไฟแพงได้" นายพีระพันธุ์ กล่าว