สรท. มั่นใจส่งออกปีนี้โต 1-2% แต่ห่วงผลกระทบบาทแข็งช่วงปลายปี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 3, 2024 11:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สรท. มั่นใจส่งออกปีนี้โต 1-2% แต่ห่วงผลกระทบบาทแข็งช่วงปลายปี

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก มั่นใจยอดส่งออกในปีนี้ จะขยายตัวได้ 1-2% โดยมีมูลค่าการส่งออก 2.9 แสนล้านดอลลาร์ หรือแตะ 10 ล้านล้านบาท โดยมีสัญญาณที่ดีจากการเติบโตของการนำเข้าสินค้าทุน ที่จะส่งผลดีต่อการส่งออกในเดือน ส.ค.- ก.ย. แม้จะมีปัญหาเรื่องเงินบาทแข็งค่าที่คาดการณ์ว่าจะมีผลไปถึงต้นปี 68 เนื่องจากคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น

"ความร่วมมือของภาครัฐ และเอกชน ในช่วง 7 เดือนแรกถือสอบผ่าน ส่งออกโตได้ 3.8% โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคม ที่โตเกินคาดการณ์ของทุกสำนักฯ ถึง 15.2% แม้จะมีปัจจัยภายนอกกดดัน ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ว่าทั้งปีจะโต 1-2% คิดว่าไม่ไกลเกินฝัน หากไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเพิ่มเติม" ประธาน สรท. กล่าว

พร้อมระบุว่า แม้ สรท.จะคงคาดการณ์การส่งออกปี 2567 ไว้ที่ 1-2% แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังในครึ่งปีหลัง ได้แก่

1. เงินบาทแข็งค่าเร็วอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลโดยตรงต่อการส่งออกทันที

2. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และแคนาดา ตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากจีน ทำให้สินค้าจีนไหลเข้าตลาดในเอเชีย, สงครามในตะวันออกกลางที่ยังยืดเยื้อ

3. ปัญหาการขนส่งทางทะเล ส่งผลให้ค่าระวางเรือของท่าเรือหลักยังตึงตัวและผันผวน, ปัญหาตู้ขนส่งสินค้า

4. การเข้าถึง และการตัดวงเงินสินเชื่อของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME ทำให้กระทบต่อสภาพคล่องธุรกิจ

นายชัยชาญ กล่าวว่า สรท. ได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ที่สำคัญ ดังนี้

1. รัฐบาลต้องมุ่งเน้นให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นชาติการค้า เพื่อสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งและมีเสถียรภาพ รวมทั้งพัมนาการส่งออกที่เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างมั่นคง

2. เร่งแก้ไขปัญหาความแออัดของท่าเรือแหลมฉบังที่มีมาต่อเนื่อง รวมทั้งค่าน้ำมัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุน และทำให้ศักยภาพการแข่งขันระหว่างประเทศลดลง

3. รักษาเสถียรภาพเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป พร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเร่งประกันความเสี่ยงค่าเงินบาท

4. พิจารณาหลักเกณฑ์เงื่อนไข สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเพียงพอ

5. กำกับดูแลต้นทุนการผลิต และต้นทุนวัตถุดิบ เพื่อให้การส่งออกไทยยังคงขีดความสามารถในการแข่งขันได้ เช่น ต้นทุนพลังงาน และค่าไฟฟ้า ค่าแรงขั้นต่ำ ค่าขนส่งสินค้าทางทะเล

6. กำกับดูแลสินค้า และการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ต้องเอื้อประโยชน์ให้กับ supply chain ในประเทศ

7. กำกับดูแลสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และสินค้าต้นทุนต่ำจากต่างชาติที่ทะลักเข้ามาในประเทศ จนกระทบต่อผู้ผลิต SME และการจ้างงาน

ประธาน สรท. คาดว่า การส่งออกในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ยังสามารถเติบโตต่อเนื่องได้ไม่ต่ำกว่า 2% ส่วนไตรมาส 4 ยังมีสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ได้แก่ ยางพารา, ยางล้อรถยนต์, อาหารสัตว์เลี้ยง โดยช่วงเวลาที่เหลืออยู่นับตั้งแต่เดือน ส.ค.67 จะต้องมียอดส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 23,800 ล้านดอลลาร์

"ยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้น เป็นการไปทดแทนผู้ผลิตจากประเทศอื่น หากอัตราแลกเปลี่ยนเกาะกลุ่มไปกับประเทศคู่แข่ง ก็ไม่น่าเป็นห่วง ในช่วงโค้งสุดท้ายผู้ประกอบการต้องหาทางลดต้นทุน ยอมกัดลิ้น กลืนเลือดให้ผ่านไปได้ เพราะค่าเงินบาทไม่ได้เป็นปัจจัยที่ช่วยให้แข่งขันได้อีกแล้ว" นายชัยชาญ กล่าว

สำหรับสินค้าที่ยังมีแนวโน้มส่งออกได้ดีในปีนี้ ได้แก่ ยางพารา โต 5-10%, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โต 0-5%, อาหาร โต 3-4%, ยานพาหนะและชิ้นส่วน โต 3%, เครื่องใช้ไฟฟ้า โต 5%, พลาสติกและเคมีภัณฑ์ โต 2-3%, สิ่งทอ โต 2% และผลิตภัณฑ์ยาง โต 0-3%

ประธาน สรท. กล่าวว่า ถึงแม้ปีนี้ ไทยจะสามารถเอาตัวรอดไปได้ก็ตาม แต่เป็นเพียงแค่บทนำ ปีหน้าจะเป็นบททดสอบที่แท้จริง ดังนั้นถึงเวลาที่ไทยจะต้องปฏิรูปการส่งออกให้ก้าวเข้าสู่การเป็นชาติการค้าในอีก 8 ปีข้างหน้า (Trading Nation 2032) ซึ่งเป็นการก้าวข้ามการส่งออกแบบเดิม ๆ ที่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นเหมือนการกินบุญเก่า และได้รับผลกระทบทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพื่อให้การส่งออกของไทยมีทิศทางการเติบโตอย่างยั่งยืนอย่างน้อยปีละ 5%

"ปีนี้อย่าเพิ่งดีใจไปเลี้ยงฉลองกับยอดส่งออกที่โตขึ้น 1-2% แต่วันหน้า ยังไม่รู้ว่าจะต่อสู้อย่างไร วันนี้อาจต้องมี new skill ไม่ใช่แค่ upskill หรือ reskill เท่านั้น" นายชัยชาญ กล่าว

พร้อมระบุว่า สรท. จะเสนอแผนยุทธศาสตร์ 8 ปี ที่จะก้าวสู่การเป็น "ชาติการค้า" ให้กับรัฐบาลใหม่ เพื่อให้เกิดการผลักดันไปพร้อม ๆ กันเหมือนวงออเคสตร้า ซึ่งต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปี 68


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ