รายงาน กนง. ชี้ดอกเบี้ยปัจจุบันยังเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 4, 2024 11:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 21 ส.ค.67 ซึ่งที่ประชุม กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี เนื่องจากกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน ยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ และเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน

ทั้งนี้ คณะกรรมการ กนง. มองว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวม มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจาก (1) ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และ (2) การบริโภคภาคเอกชนที่มีแรงส่งต่อเนื่อง แม้จะชะลอลงหลังขยายตัวสูงในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การส่งออกสินค้าและภาคการผลิต มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้านการลงทุนภาคเอกชนหดตัวในไตรมาสที่ 2 สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่โน้มลง

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็นกลุ่มฟื้นตัวดี และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการส่วนใหญ่ อาทิหมวดการค้า และการบริการสาธารณูปโภค ซึ่งคิดเป็นประมาณ 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และประมาณ 44% ของจำนวนแรงงาน และกลุ่มที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 40% ของ GDP และประมาณ 56% ของจำนวนแรงงาน เช่น กลุ่มส่งออกอิเล็กทรอนิกส์, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง, ธุรกิจที่เผชิญการแข่งขันกับการนำเข้าสินค้าจากจีน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ต้องติดตามการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นด้านการลงทุน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่โน้มลดลง ประกอบกับรายได้ที่ฟื้นตัวช้า และฐานะการเงินของครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังเปราะบาง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567

สำหรับภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง คณะกรรมการฯ กนง. เห็นว่าควรติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อต้นทุนการกู้ยืม และการขยายตัวของสินเชื่อในภาพรวม รวมถึงนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คณะกรรมการฯ ตระหนักถึงปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs จึงสนับสนุนมาตรการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ รวมทั้งยังสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ที่ให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด และมีส่วนช่วยให้กระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (debt deleveraging) เกิดขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายร่วมกัน

1. คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวตามที่ประเมินไว้ โดยเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จะขยายตัวสมดุลขึ้นจากทั้งอุปสงค์ในประเทศ และภาคต่างประเทศ แต่ก็มีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจในบางภาคส่วน โดยเฉพาะ 1) การบริโภคภาคเอกชนที่แรงส่งอาจชะลอกว่าที่ประเมินไว้ 2) การส่งออกและการผลิตในกลุ่มฟื้นตัวช้า และมีแนวโน้มถูกกดดันต่อเนื่องจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อการลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป และอาจมีนัยสำคัญต่อศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว

2. คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยกลับสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 และมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ใกล้เคียงขอบล่างของกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำไม่ได้สะท้อนภาวะเงินฝืด (deflation) และมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาค่าครองชีพ โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อย ที่เผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าครัวเรือนกลุ่มอื่นในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% มีส่วนช่วยยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางได้ดี และมีความยืดหยุ่นเพียงพอในการรองรับความผันผวนจากปัจจัยด้านอุปทาน และเห็นว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ยืดหยุ่น มีบทบาทสำคัญในการดูแลเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลาง

3. คณะกรรมการฯ ตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างภาคเศรษฐกิจและภาคการเงิน (macro-financial linkages) คุณภาพสินเชื่อครัวเรือนชะลอลง โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยและเช่าซื้อ อีกทั้งเห็นสัญญาณของการด้อยคุณภาพ ที่เริ่มกระจายจากครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยไปยังกลุ่มรายได้ที่สูงขึ้น จึงเห็นควรให้ติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่อาจส่งผลให้สถาบันการเงินเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อในภาพรวมเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืม และการขยายตัวของสินเชื่อในภาพรวม รวมทั้งส่งผลต่อเนื่องไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผ่านการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน และจะย้อนกลับมากระทบคุณภาพสินเชื่ออีกครั้ง

4. กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพ และการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน โดยพิจารณาว่า (1) เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ และ (2) หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง กระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (debt deleveraging) ควรเกิดขึ้นต่อเนื่อง

"ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงิน ที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กรรมการส่วนใหญ่ เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจและภาวะการเงินที่มีความเชื่อมโยงกัน โดยจะพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า" รายงาน กนง.ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ