ZoomIn: ยานยนต์ไทยเข้าขั้นโคม่า?? ยอดขายปีนี้ส่อทรุดหนักในรอบ 15 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 5, 2024 14:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อุตสาหกรรมรถยนต์ ถือเป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมหลัก ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่จากตัวเลขที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รายงานล่าสุด พบว่า ยอดผลิตและยอดขายรถยนต์เดือน ก.ค.67 ยังหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 นับจากต้นปี จากหลายปัจจัยลบที่รุมเร้า ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ กระทบกำลังซื้อผู้บริโภคลดลง, ปัญหาหนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น จนสถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ, ปัญหาค่าครองชีพสูง จนส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ปีนี้ ล่าสุดได้ปรับลดเป้าการผลิตลงถึง 2 แสนคัน จากเดิม 1.9 ล้านคัน เหลือ 1.7 ล้านคัน โดยเป็นการปรับลดเฉพาะในส่วนของการผลิตเพื่อขายในประเทศ จาก 750,000 คัน เป็น 550,000 คัน

สถิติผลิต ส่งออก และจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ 7 เดือนปี 2567

                             ยอดผลิต          ยอดขาย          ยอดส่งออก
          ม.ค.               -12.16%         -16.42%          -0.08%
          ก.พ.               -19.28%         -26.15%          +0.22%
          มี.ค.               -23.08%         -29.83%          -3.35%
         เม.ย.               -11.02%         -16.69%         -12.23%
          พ.ค.               -16.19%         -23.38%          +3.39%
          มิ.ย.               -20.11%         -26.04%          +0.28%
          ก.ค.               -16.62%         -20.58%          -22.70%

ทั้งนี้ อุตสาหกรมยานยนต์ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี ทั้งในด้านด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนมาเป็นไฟฟ้า และการเปลี่ยนแปลงผู้เล่น จากเดิมที่เป็นค่ายญี่ปุ่น-ยุโรป มาเป็นค่ายรถจีน ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกหลายราย ได้ชะลอแผนรุกตลาดต่างประเทศ ทั้งฟอร์ดมอเตอร์, เจนเนอรัลมอเตอร์ส, โฟลค์สวาเกน และ เทสลา เนื่องจากมีการแข่งขันทางการตลาดอย่างดุเดือดของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน จนอาจทำให้ไม่เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน

ล่าสุด วินฟาสต์ (VinFast) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของเวียดนามที่ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) ร่วมกับตัวแทน จำหน่าย 15 รายในประเทศไทยไปแล้ว โดยมีเป้าหมายเปิดโชว์รูม 22 แห่งในกรุงเทพฯ ตัดสินใจเลื่อนเปิดเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายใน ประเทศไทยเช่นกัน รวมถึงกระแสข่าว ค่ายเทสลา พับแผนการลงทุนในไทยที่ยังต้องรอความชัดเจน ส่วนค่ายรถญี่ปุ่น อย่าง ซูซูกิ และซูบารุ ได้ประกาศยุติการผลิตในประเทศไทย

จากมุมมองศูนย์วิจัย ttb analytics ประเมินภาพอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยปี 2567 ว่า แนวโน้มยอดขายรถยนต์ทั้งปี 2567 จะหดตัวรุนแรงสุดในรอบ 15 ปี และยอดขายรถยนต์ในประเทศ อาจไม่สามารถกลับเข้าสู่ระดับก่อนการเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2562 ได้ในเวลาอันใกล้ จากการชะลอตัวของภาคอุปสงค์ในระยะยาว จากปัญหาเชิงโครงสร้าง 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่

  • ตลาดรถยนต์ในประเทศอิ่มตัว จากจำนวนรถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนนสะสมทั่วประเทศ ปัจจุบันสูงถึงเกือบ 20 ล้านคัน หรือคิดเป็น 277 คันต่อประชากรไทย 1,000 คน ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเวียดนาม 50 คัน ฟิลิปปินส์ 38 คัน และอินโดนีเซีย 78 คันต่อประชากร 1,000 คน ประกอบกับพฤติกรรมการใช้งานรถยนต์ของคนไทยที่ค่อนข้างนาน เฉลี่ยถึง 12 ปี เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยประเทศหลัก ๆ ที่ใช้งานรถยนต์ประมาณ 6-8 ปี จึงทำให้โอกาสที่จะซื้อรถยนต์ใหม่เพื่อหมุนเวียนรถเก่าค่อนข้างต่ำ
  • พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยนับตั้งแต่การบุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของแบรนด์ผู้ผลิตจีน ทำให้มาตรฐานการตั้งราคารถใหม่ในท้องตลาดมีแนวโน้มลดลงจากเดิม ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ขณะที่บางส่วนชะลอการซื้อรถยนต์ออกไปจนกว่าจะเจอราคาที่เหมาะสมกับกำลังซื้อ รวมไปถึงทัศนคติต่อการซื้อรถยนต์ของคนยุคใหม่ ที่หันมาใช้การเช่าแทนการซื้อครอบครอง เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต และลดภาระค่าใช้จ่ายที่จะตามมา ทำให้การซื้อรถยนต์ในยุคสมัยนี้อาจน้อยกว่าในอดีต
  • โครงสร้างประชากรกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบ เห็นชัดจากยอดขายที่อยู่อาศัย และรถยนต์ในประเทศระยะหลังชะลอการเติบโตลง ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างประชากรไทยที่อยู่ในภาวะ "สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์" (Complete Aged Society) และกำลังจะขยับเป็น "สังคมสูงวัยระดับสุดยอด" (Super Aged Society) (สัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด) ในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า สวนทางกับสัดส่วนประชากรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อรถยนต์อย่างกลุ่มอายุ 25-49 ปี กลับมีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 40% ของประชากรทั้งหมดในปี 2553 เป็น 35.2% ในปี 2566 และคาดว่าจะลดลงเหลือเพียง 33.2% ของประชากรทั้งหมดในปี 2573
  • เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตช้าลง แม้เครื่องชี้การบริโภคในช่วงที่ผ่านมาจะขยายตัวได้ดี แต่ส่วนหนึ่งมาจากการฟื้นตัวของภาคบริการตามการท่องเที่ยว ขณะที่การลงทุนโดยรวมอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ภาคการผลิตและส่งออกก็กำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างรุนแรงขึ้น รวมไปถึงการบุกตลาดของสินค้าราคาถูกจากจีนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ กระทบความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตช้าลงในระยะยาว ซึ่งจะบั่นทอนการเติบโตของรายได้และกำลังซื้อของภาคครัวเรือนในที่สุด
  • หนี้ครัวเรือนสูงกำลังเพิ่มข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากระดับหนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบันสูงถึง 91.3% ของจีดีพี ซึ่งสูงเกินกว่าระดับที่เหมาะสมที่เอื้อต่อการบริโภคที่ 80% ของจีดีพี และสูงกว่าประเทศที่มีรายได้ต่อหัวใกล้เคียงกัน ท่ามกลางความพยายามแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ จึงทำให้สถาบันการเงินมีข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อแก่รายย่อยมากขึ้น สะท้อนจากการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อของสถาบันการเงินหดตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 2 ไตรมาสในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ แม้ว่าการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน จะมีแนวโน้มผ่อนคลายลงบ้างตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และกำลังซื้อแต่คาดว่าความกังวลเกี่ยวกับการเสื่อมค่าของมูลค่าสินทรัพย์ (รถยนต์) ในอนาคตแนวโน้มการด้อยลงของคุณภาพหนี้ รวมถึงเงื่อนไขสัญญากู้และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค จึงทำให้สถาบันการเงินยังคงมีความรัดกุมในการพิจารณาสัญญาสินเชื่อเช่าซื้อต่อไป

สอดรับกับมุมมองของ นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. ที่มองว่า ยอดขายในประเทศช่วงครึ่งปีแรกตกลงไปมากจากรถปิกอัพ เพราะปัญหาหนี้ครัวเรือน ทำให้ไฟแนนซ์ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อ ทั้งนี้สถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์จะกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ ต้องรอให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนคลี่คลายลง

หากรัฐบาลทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัว จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่การผลิตเกี่ยวข้องเชื่อมโยงเป็นจำนวนมาก

"ที่ผ่านมา การเติบโตของหนี้ครัวเรือนยังสูงกว่าจีดีพี ต้องพยายามทำให้จีดีพีขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3% ได้ 4-5% ยิ่งดี รถที่ขายได้หนึ่งคัน หรือบ้านหนึ่งหลัง จะสร้างรายได้ให้กับห่วงโซ่การผลิตจำนวนมาก" นายสุรพงษ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ