นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติอนุมัติขยายกรอบการให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2567 ส่งผลให้นักเรียน-นักศึกษาผู้กู้ยืม ได้รับโอกาสทางการศึกษาเพิ่มขึ้นอีก 68,000 คน เป็น 837,009 คน จากเดิม 769,009 คน พร้อมปรับวงเงินให้กู้ยืมเพิ่มขึ้นเป็น 51,278 ล้านบาท จากเดิม 48,344 ล้านบาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการศึกษาของนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง
"ในปีการศึกษา 2567 มียอดกู้ยืมถึง 5 หมื่นล้านบาท ถือว่ามากสุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ที่ก่อตั้ง กยศ. โดยเป็นการให้กู้ผ่านสถาบันการศึกษากว่า 4,400 แห่ง คิดเป็นผู้กู้เกือบ 8 แสนคน ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ภาวะเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนมากู้ยืมเงิน กยศ.มากขึ้น" นายชัยณรงค์ กล่าว
สำหรับความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมนั้น กยศ. ได้ขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้อีก 15 ปี ปลดภาระผู้ค้ำประกันทันที และให้ส่วนลดเบี้ยปรับที่ตั้งพักไว้ทั้งหมด 100% หลังจากชำระหนี้เสร็จสิ้น ซึ่ง กยศ.ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนก.พ.-ก.ย.67 มีผู้กู้ยืมเงินเข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วกว่า 168,000 คน จากจำนวนผู้กู้ยืมที่เข้าข่ายต้องปรับโครงสร้างหนี้ประมาณ 2 ล้านคน
ผู้จัดการ กยศ. กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ กยศ.จะประสานความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรม เพื่อดำเนินการออกไปปรับโครงสร้างหนี้ตามสถานที่ราชการของแต่ละจังหวัด เพื่อให้ลูกหนี้ กยศ. สามารถเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ได้สะดวกมากขึ้น รวมถึงการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อให้ลูกหนี้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้กันมากขึ้น
"เราจะเดินสายปรับโครงสร้างหนี้ทั่วประเทศ ตอนนี้ปรับไปแล้วเกือบ 1.7 แสนราย ช่วยเกิดผลหลายประการ คือ 1.ผู้กู้สามารถขยายเวลาผ่อนชำระ จากเดิมไปได้อีก 15 ปี เบี้ยปรับจะถูกพักไว้ทั้งหมด และเมื่อผ่อนครบ 15 ปี จะยกเบี้ยปรับให้ทั้งหมด โดยมีโอกาสผิดนัดชำระได้ 6 งวด และผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดทั้งหมด ใครที่เคยถูกฟ้อง ถูกบังคับคดีไว้ เมื่อส่งปรับโครงสร้างหนี้แล้ว จะมีผลตามกฎหมายให้การค้ำประกันสิ้นสุดลง ผู้ค้ำประกันจะได้รับการไถ่ถอนการบังคับคดีทุกอย่าง ที่สำคัญ คือ ทุกคนที่เคยผิดนัดชำระหนี้ จะกลับเป็นหนี้ปกติ และผู้กู้ที่เคยถูกฟ้อง ก็จะสามารถกลับมากู้ได้ทุกคน ดอกเบี้ยคิด 1% เบี้ยปรับคิด 0.5% และคิดบนเงินต้นที่ผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น จะไม่มีการทำอะไรที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด หรือผิดกฎหมายอย่างแน่นอน" ผู้จัดการ กยศ. ระบุ
ปัจจุบัน กยศ. ได้ให้เงินกู้ยืมแก่นักเรียน นักศึกษา ไปแล้วรวมทั้งสิ้นประมาณ 7 ล้านราย คิดเป็นวงเงินให้กู้ราว 7-8 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ มีลูกหนี้ที่ปิดบัญชีไปแล้วประมาณ 2 ล้านคน ขณะที่ประมาณ 4.5 ล้านคน ส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่ยังอยู่ระหว่างศึกษา และอีกส่วนเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ ซึ่งลูกหนี้บางคนสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้
นายชัยณรงค์ กล่าวถึงการคำนวณยอดหนี้ใหม่ (ตามกฎหมายฉบับใหม่) ว่า กยศ. ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้กู้สามารถเข้าไปตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของ กยศ. ซึ่งการคำนวณยอดหนี้ใหม่นี้ จะนำเงินต้นที่ถึงกำหนดชำระมาตัดชำระหนี้ก่อน จากนั้นค่อยตัดดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ ซึ่งทำให้ลูกหนี้ กยศ.หลายคนมีภาระหนี้ที่ลดลง
ขณะที่ภาพรวมการรับชำระหนี้ในปี 67 กยศ. ได้รับชำระเงินคืนแล้ว 23,359 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ส.ค.67)
นายชัยณรงค์ กล่าวด้วยว่า ในปี 68 กยศ. ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลประมาณ 3,000 ล้านบาท จากที่เสนอขอไปในระดับหมื่นล้านบาท และมีการแปรญัตติในรอบ 2 เหลือ 9,000 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ ขอให้ผู้กู้ไม่ต้องกังวลว่า กยศ.จะมีเงินไม่เพียงพอที่จะนำมาปล่อยกู้ โดย กยศ.ยังมีเงินหมุนเวียนที่เกิดจากการทยอยรับชำระหนี้คืนในแต่ละปี ซึ่งไม่ใช่ว่ารัฐบาลตัดงบประมาณแล้ว กยศ.จะไม่สามารถอยู่ได้
"ปี 68 เราได้รับงบแล้ว ประมาณ 3,000 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอของบไปหมื่นล้านบาท และมีการแปรญัตติในรอบสอง เหลือ 9,000 ล้านบาท และได้รับกลับมา 3,000 ล้านบาท ถ้าจำเป็นจริง ๆ รัฐบาลจะไม่ปล่อยให้ใครไม่มีเงินเรียน ไม่ต้องกังวล เรามีเงินพร้อมดำเนินการ...เราดูร่วมกับสำนักงบประมาณ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลตัดงบแล้ว เราจะไม่สามารถอยู่ได้" ผู้จัดการ กยศ. ระบุ