นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลฯ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ประเมินนโยบายรัฐบาลใหม่ที่จะแถลงต่อรัฐสภาหากทำได้จะมีส่วนช่วยยกระดับประเทศไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วในระยะยาว แต่จะประสบความสำเร็จตามนโยบายไม่ง่ายต้องอาศัยความมุ่งมั่นในการปฏิรูปและเจตจำนงร่วมทางการเมืองอันแน่วแน่ของพรรคร่วมรัฐบาล
นอกจากนี้ การบรรลุเป้าหมายตามนโยบายระยะกลางและระยะยาวยังขึ้นอยู่กับพลวัตของเศรษฐกิจ การเมืองทั้งภายในประเทศและต่างประเทศในอนาคต ความท้าทายต่างๆที่ประเทศเผชิญต้องอาศัยความมีเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย ความคงเส้นคงวาของนโยบาย ไม่เปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาหรือต้องพิจารณาให้รอบคอบรัดกุมก่อนนำเสนอ
ความต่อเนื่องในการบริหารประเทศเป็นอีกปัจจัยสำคัญในรับมือความท้าทายต่างๆต้องแก้ปัญหาโดยคิดนอกกรอบและทบทวนกระบวนทัศน์แบบเดิมๆ ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความถดถอยของความสามารถในการแข่งขัน ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและวิกฤติการคลังอันเกี่ยวเนื่องกับสังคมสูงวัยขั้นสุดยอดใน 10 ปีข้างหน้า ปัญหาหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือน ความอ่อนแอของทุนมนุษย์และสถาบันครอบครัว เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ต้องอาศัยวิธีการใหม่ๆ กรอบคิดใหม่ๆในการแก้ไข
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ต้องยกเลิกความคิดรวมศูนย์ทุกอย่างไว้ที่ส่วนกลาง ต้องดำเนินการกระจายอำนาจในทุกมิติอย่างแท้จริง อำนาจต้องอยู่ที่ประชาชนเจ้าของประเทศ ไม่ใช่ รัฐบาลหรือระบบราชการ การแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นหลักประกันเบื้องต้นในการปฏิรูปและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ที่จะมีแรงต่อต้านและแรงเสียดทานสูง
แต่รัฐบาลต้องเดินหน้าผลักดันอย่างมียุทธศาสตร์ การสร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมและส่งเสริมโอกาสในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ต้องดำเนินการแบบผ่าตัดปฏิรูปใหญ่ ไม่ใช่วิธีดำเนินการค่อยๆทำทีละส่วนแบบปะผุ เพราะจะไม่ทันกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก อุตสาหกรรมโลกและพลวัตเทคโนโลยี การสร้างรายได้จาก Soft Power ขอให้พิจารณาบทเรียนทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวของประเทศต่างๆ ไม่ว่า จะเป็น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ จีน หรือ ญี่ปุ่น เป็นต้น
ขณะเดียวกัน การปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี ก่อนที่ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองจากรัฐธรรมนูญรุมเร้า และอาจจะสั่นคลอนต่อเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยได้
ส่วนนโยบายทางด้านทุนมนุษย์ผ่านการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัย ทั้งมิติการศึกษาและสาธารณสุขนั้น เป็นสิ่งที่จะทำให้ "คุณภาพชีวิตของประชาชน" "สังคม" "เศรษฐกิจ" และ "การเมือง" ดีขึ้นในระยะยาว แต่เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาผลสัมฤทธิ์จึงจะปรากฏ ยกเว้น การต่อยอด 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ สามารถรักษาได้ทุกที่ น่าจะมีความคืบหน้าอย่างชัดเจนตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว
ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ไล่เรียงไปตั้งแต่ การบริหารจัดการน้ำ จนถึง ระบบขนส่งคมนาคม ต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ และ โปร่งใสตรวจสอบได้ รวมทั้งต้องแสวงหาวิธีสนับสนุนโครงการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดภาระทางการคลังมากเกินไป และ นำไปสู่วิกฤติฐานะการคลังในอนาคตได้ การสร้างรายได้ใหม่ของรัฐจากการจัดระเบียบเศรษฐกิจใต้ดินหรือเศรษฐกิจนอกระบบเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบโดยศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน ร
ส่วนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมให้เป็นศูนย์กลางทางด้านต่างๆต่อเนื่องจากนโยบาย IGNITE Thailand ของรัฐบาลเศรษฐานั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้แต่อาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีสำหรับบางอุตสาหกรรม แต่บางอุตสาหกรรมไทยมีความพร้อมมาก บางอุตสาหกรรมต้องมีการลงทุนในทักษะแรงงานอย่างจริงจัง ยกเครื่องระบบการศึกษา มีการลงทุนทางด้านการวิจัยแปรรูปสร้างมูลค่า ลงทุนและพัฒนานวัตกรรมอย่างเป็นระบบ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามเป้าหมาย ลำดับความสำคัญในการลงทุนตามความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบและความสามารถในการแข่งขัน พร้อมมีแผนดำเนินการอย่างชัดเจน ความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายจากเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยชี้ขาดความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม นโยบายการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Target Industries) เพื่อพัฒนาไม่ใช่เรื่องใหม่และเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว ใน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีนและสิงคโปร์ คำถามสำคัญ คือ ทำไมประเทศเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและธุรกิจอุตสาหกรรมได้อย่างไร และ ทำไมประเทศเหล่านี้สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงมากกว่าไทย และไม่เป็นเพียงนโยบายสวยหรู เป็นเรื่องที่ รัฐบาล เอกชน ภาคการศึกษา สถาบันวิจัย ต้องไปแสวงหาคำตอบและแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศแถวหน้าของภูมิภาคเอเชีย
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การแบ่งขั้วทางการค้า การผลิต และการลงทุนจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้า ส่งผลให้เกิดการเบี่ยงเบนการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Diversion) การดำเนินนโยบายเป็นกลางของไทยจะทำให้ได้รับผลกระทบจากการเบี่ยงเบนทางการค้าน้อยกว่าประเทศที่อยู่ในขั้วความขัดแย้งของสงครามทางเศรษฐกิจ มีความจำเป็นต้องทบทวนยุทธศาสตร์การค้าและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) ระหว่างประเทศของไทยใหม่เพื่อให้ผลสุทธิต่อสวัสดิการของสังคมไทยโดยรวมเป็นบวก ก่อให้เกิดการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้น (Trade and Investment Creation) แทนที่จะเกิด การเบี่ยงเบนการค้าและการลงทุน การทุ่มตลาดของสินค้าจีนต้องไม่สั่นคลอนต่อระเบียบการค้าเสรีของไทย โดยหันมาใช้ลัทธิกีดกันทางการค้ามากกว่า ระเบียบการค้าเสรียังคงเป็นพลังผลักดันการเติบโตให้เศรษฐกิจไทย หากเราใช้ประโยชน์จากสถานการณ์การทุ่มตลาดของสินค้าจีนพลิกมาเป็นข้อได้เปรียบทางการผลิตและการค้าด้วยการนำเอาสินค้าและวัตถุดิบจากจีนเหล่านี้มาพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้าขั้นกลางและขั้นปลายที่มีมูลค่าสูงขึ้นแล้วส่งออก ขณะเดียวกันให้ใช้ประโยชน์ในสภาวะเงินบาทแข็งค่าในการเร่งนำเข้าสินค้าและบริการต่างๆที่มีความจำเป็นต่อการลงทุน การผลิตและการพัฒนาเศรษฐกิจ
การดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่ในการไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างประเทศ การดำเนินนโยบายต่างประเทศมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน (Active Promoter of Peace and Common Prosperity) เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับสถานการณ์และจะทำให้ "ประเทศไทย" รอดพ้นจากผลกระทบความขัดแย้งของมหาอำนาจและสงครามใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า คาดการณ์ว่า บาทแข็งค่าต่อเนื่องอาจทะลุ 32 บาทต่อดอลลาร์ได้ หากธนาคารกลางสหรัฐฯลดดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนกันยายนนี้ และ ธนาคารกลางของไทยไม่ยอมปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ ประกอบกับเงินทุนระยะสั้นต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้น มีการลงทุนดักรอกองทุนวายุภักดิ์ในบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ปัจจัยพื้นฐานดี จ่ายเงินปันผลสูง เม็ดเงินวายุภักดิ์ 1.5 แสนล้านบาทจะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยพลิกกลับสถานการณ์ซบเซาของตลาดหุ้นไทยก่อนหน้านี้
ส่วนการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ไม่กระทบจ้างงาน ไม่เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อมากนัก เงินเฟ้อจะเกิดจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารจากผลกระทบของอุทกภัยมากกว่า การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำยังช่วยเพิ่มแรงกดดันให้ผู้ประกอบการปรับตัวใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ลดการใช้แรงงานมนุษย์ ทำให้ผลิตภาพระยะยาวเพิ่มขึ้นสอดรับกับสถานการณ์แรงงานขาดแคลนจากสังคมสูงวัยในอนาคต
การขยับขึ้นค่าแรงทำให้เกิดการปรับโครงสร้างภาคการผลิต อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศต้นทุนแรงงานต่ำมากขึ้น ขณะที่ไทยต้องขยับผลิตสินค้าที่ใช้ทักษะสูง ใช้ทุนและเทคโนโลยีเข้มข้นมากขึ้น เศรษฐกิจขยายดีขึ้น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีโดยให้มีระบบ Negative Income Tax ของรัฐบาลใหม่ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยไม่ถึงขั้นต่ำได้รับเงินโอนสวัสดิการช่วยเหลือ จะเป็นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางได้ตรงเป้าหมายมากขึ้นและยังช่วยสร้างฐานข้อมูลรายได้และภาษีเพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินนโยบายสาธารณะอื่นๆได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์นั้นถูกขับเคลื่อนและดำเนินไปโดยแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างในส่วนสำคัญของกิจการ ผู้คนเป็นพันล้านคนใช้เวลามากมายในแต่ละวันเพื่อสร้างเนื้อหาให้เฟซบุ๊กฟรีๆ ยูทูป หรือ ไลน์ โดยรายงานเหตุการณ์ต่างๆ แสดงความคิดเห็น นำเสนอเรื่องราวต่างๆพร้อมโพสต์รูปภาพต่างๆ โพสต์วิดิโอต่างๆ สิ่งที่อาจจะพิจารณาว่าเป็นค่าจ้างได้ ก็คือ การสื่อสารถึงกลุ่มคนต่างๆและความสัมพันธ์ใหม่ หากโพสต์มีคนเข้าชมหรือมีส่วนร่วมมากพอก็อาจได้รับส่วนแบ่งจากโฆษณาเพียงเล็กน้อย ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมและได้รับประโยชน์ที่เหมาะสมในเงื่อนไขที่เหมาะสม ในอนาคตการแบ่งปันข้อมูลอาจจะขยายยัง ข้อมูลการเงินส่วนบุคคล ปัญหาสุขภาพ หรือชีวิตส่วนตัว มากขึ้น
การที่รัฐบาลใหม่มีนโยบายพัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเรื่องที่ดี และ นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ควรมีเป้าหมายในระดับประเทศที่ชัดเจน ได้แก่ การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่ง GDP ที่จะเพิ่มได้นั้น ไม่ได้เกิดจากที่รัฐเป็นผู้ให้บริการ แต่รัฐต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้เอกชนเป็นผู้สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการ (Product and Service) ที่อยู่บนระบบเศรษฐกิจดิจิทัลดังกล่าว ดังนั้น นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) จึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะต้องคิดและเขียนออกมาให้ได้ตรงตามเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ การเพิ่ม GDP ให้กับประเทศไทย และการทำให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability) ในระยะยาว นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ดั้งเดิมสามารถล่มสลายได้ในพริบตานั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
หากนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลและนโยบายส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นมาโดยมีเป้าหมายต้องการให้เศรษฐกิจก้าวหน้าและเติบโต ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างมียุทธศาสตร์ เราจะได้เห็นการเติบโตอันแข็งแกร่งของภาคเอกชนมากขึ้น ยกตัวอย่าง ความสำเร็จของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีบริษัทซัมซุงและบริษัทแอลจีเป็นตัวอย่างที่รัฐสนับสนุนส่งเสริมเอกชน ทำให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในหลายปีที่ผ่านมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง และประชาชนเกาหลีใต้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการได้รับค่าตอบแทนในการทำงานที่เพิ่มขึ้น จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในหลายปีที่ผ่านมา
ทิศทางในการดำเนินการควรให้เอกชนเป็นผู้นำการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีรัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) และส่งเสริมสนับสนุน (Promoter) โดยการสร้างแรงจูงใจอย่างเป็นระบบ และปรับปรุงประสิทธิภาพ กระบวนการทำงานของภาครัฐด้วยดิจิทัล ให้โปร่งใส รวดเร็ว และลดคอร์รัปชันได้ มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมไอซีทีนั้นมีความสำคัญ อุตสาหกรรมไอซีทีที่ขับเคลื่อนด้วยภาคเอกชนในทุกประเทศทั่วโลก เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของเติบโตทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมไอซีทีจะมีส่วนร่วมผลักดันแนวนโยบาย Digital Economy ให้เป็นจริงได้โดยอาศัยความร่วมมือและความเข้าใจจากภาคเอกชนและรัฐต้องมีการสนับสนุนอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และสร้างระบบแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้แข่งขันได้ในอนาคต