ปธ.FETCO เตือนหุ้นไทยขึ้นแน่ แต่ไปต่อยาวได้ต้องสร้าง Product ใหม่-รัฐขับเคลื่อนโครงการจริงฟื้นเชื่อมั่น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 9, 2024 12:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เชื่อว่า ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นไปได้จากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น หลังจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ดีขึ้น การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ในระยะกลาง-ยาว 3-5 ปี จะต้องมาคิดเรื่องการสร้างสินค้าใหม่ ๆ ที่เพิ่มความน่าสนใจให้กับตลาดทุนไทย เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามา

"ระยะสั้น ๆ คงผ่านไปได้ แต่ 3-5 ปี ตลาดฯ ต้องมาคิดเรื่องอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ดิจิทัล เทคโนโลยี สตาร์ทอัพ เป็นเรื่องที่เราทำไม่สำเร็จในช่วงที่ผานมา เรามียูนิคอร์นแค่ 3 ตัว ขณะที่เวียดนาม อินโดฯ แซงเราไปแล้ว และถ้าเขายังมุ่งไปสู่อนาคตแบบนี้ แต่เรายังมีปัญหา เราจะแข่งได้อย่างไร...เราต้องหาทางว่าจะสร้าง Star ได้อย่างไร อยากดำเนินการให้ได้เกิด Superstar ตัวใหม่ และหา Superstar จากข้างนอกเข้ามาด้วย" นายกอบศักดิ์ กล่าว

ประธาน FETCO กล่าวว่า ขณะนี้ Sector ที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทย คือ ปิโตรเคมี โดยเฉพาะ บมจ.ปตท.(PTT) ตัวเดียวก็มีสัดส่วนถึง 20-30% ของตลาดฯ ขณะที่กลุ่มปิโตรเคมีเป็นกลุ่มที่นักลงทุนกังวลใจ เพราะเป็นอุตสาหกรรม Sunset จากปัญหาโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นมาก และกระบวนการของโลก ที่จะเข้มงวดกับเรื่องนี้จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ สร้างผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มปิโตรเคมี

ขณะเดียวกัน กลุ่มแบงก์ที่มีน้ำหนักในตลาดหุ้นไทยราว 10% ก็มีอัพไซด์ไม่มากแล้ว เพราะอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายเทคโยโลยี ฟินเทคฯ ทำให้เซอร์วิสการเงินดีขึ้น แต่ทำให้กลุ่มแบงก์ถูกท้าทายจากเทคโนโลยีสมัยใหม่

"คำถามที่มีคือ กำไรตลาด 1 ล้านล้านบาท ครึ่งหนึ่งมาจาก 10 กว่าบริษัท ถ้าทั้งสองกลุ่มอยู่ในช่วงขาลง หรืออัพไซด์ไม่มาก ต่างชาติจะเข้ามาลงทุนกับเราได้อย่างไร"

นอกจากนั้น ภาครัฐจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนให้มากขึ้น หลังจากการเมืองมีเสถียรภาพ ทำให้ความเชื่อมั่นกลับคืนมาระดับหนึ่งแล้ว โดยจะต้องขับเคลื่อนการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นจริง เริ่มจากโครงการที่มีอยู่เดิม และโครงการขนาดเล็กให้เดินต่อไปได้ พร้อม ๆ ไปกับการเตรียมขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ที่จะต้องใช้เวลานาน 3-4 ปี

"สิ่งที่บั่นทอนความเชื่อมั่นหายไปแล้ว เชื่อว่าตลาดจะไปได้ หุ้นก็ได้รับแรงขับเคลื่อนแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น คือเมื่อตลาดหุ้นกลับขึ้นมาได้ รัฐบาลจะขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ได้หรือไม่ ต้องทำให้ดูว่าเราทำได้ ความเชื่อมั่นจะกลับมา ซื้อเวลาทำโครงการใหญ่ ๆ ที่ต้องใช้เวลาระยะเวลามากกว่า 2 ปี ทำกระตุ้นระยะสั้นก่อน เตรียมโครงการใหม่ และเตรียมอนาคตที่เป็นเทคโนโลยี"

นายกอบศักดิ์ กล่าวถึงทิศทางดอกเบี้ยในประเทศว่า จังหวะที่เหมาะสมจะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ ณ วันนี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้น โลกกำลังฟื้น คิดว่ากรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ส่วนหนึ่งคิดว่าดอกเบี้ยในปัจจุบันน่าจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่ง กนง.ส่วนหนึ่ง ก็คงก้ำกึ่งในการระบุว่าจุดใดจึงจะเหมาะสม

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวคิดว่าจุดเหมาะสมของอัตราดอกเบี้ย น่าจะอยู่ในระดับ 2-2.5% ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็อยู่ที่ 2.5% ถ้า กนง.อยากลดก็คงลดได้ระดับหนึ่ง แต่ความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินเริ่มหมดไป เพราะส่งออกกำลังจะดี ท่องเที่ยวกำลังจะมา ลงทุนภาครัฐจะเริ่มทยอยออกมา การลงทุนจากต่างประเทศก็น่าจะเข้ามา ทำให้โอกาสลดดอกเบี้ยมีไม่มาก และไม่เห็นความจำเป็นต้องลดลงต่ำกว่า 2% เพราะเศรษฐกิจกำลังเดินไปข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ