ZoomIn: เกาะสนาม "Virtual Bank" โค้งสุดท้าย! กลุ่มทุนใหญ่โดดชิงเค้ก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 9, 2024 14:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จับตาศึก "Virtual Bank" กลุ่มทุนใหญ่จับมือพันธมิตรทั้งไทยและต่างชาติ ลงสนามประเดิมจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ในไทย ขณะที่แบงก์ชาติเดทไลน์ปิดรับคำขอใบอนุญาต 19 ก.ย.นี้ ตั้งเป้าเบื้องต้นแจกไลเซ่นส์ 3 ราย โบรกฯ ยกให้ "KTB-ADVANCE-GULF-OR" เป็นตัวเต็ง

ใกล้เข้ามาแล้ว สำหรับวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง "ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา" (Virtual Bank) ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นคำขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank มาตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.-19 ก.ย.67

กลุ่มที่คาดว่าจะยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank ได้แก่

1. กลุ่ม 4 พันธมิตรใหญ่ คือ ธนาคารกรุงไทย (KTB), บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ AIS, บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR)

2. กลุ่ม SCBX จับมือกับ KakaoBank ธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบที่ใหญ่สุดของเกาหลีใต้ และ WeBank ธนาคารดิจิทัลของประเทศจีนที่เข้ามาเป็นพันธมิตรรายล่าสุด

3. กลุ่ม CP โดยบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น True Money จับมือกับ Ant Financial Services Group ในเครือ Alibaba

4. กลุ่ม Shopee ผ่านบริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด แพลตฟอร์ม E-Commerce ชื่อดัง ภายใต้บริษัท Sea Group ประเทศสิงคโปร์

5. กลุ่ม BTS โดยบริษัท VGI ผู้ให้บริการ Rabbit Card และ Rabbit Cash

6. เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (JMART) ซึ่งมีพันธมิตรสำคัญ คือ KB Financial Gruop กลุ่มธุรกิจการเงินเกาหลีใต้ โดยก่อนหน้านี้มีกะรแสข่าวว่าอาจจะจับมือกับกลุ่ม BTS แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน

7. ไปรษณีย์ไทย ซึ่งจุดแข็งคือการมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศไทย อาจจับมือกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่จะยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.พาย มองว่า หากมองในภาพการแข่งขัน Virtual Bank โดยพิจารณาในแง่ความพร้อมเงินทุน ความพร้อมด้านฐานลูกค้า และความพร้อมเทคโนโลยีที่จะมารองรับการให้บริการ รวมถึงความมั่นใจในการเตรียมพร้อมยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank และมีการประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง คงหนีไม่พ้นกลุ่ม KTB-GULF-ADVANC-OR ที่มีการให้ข่าวออกมาอย่างต่อเนื่อง และค่อนข้างมีความพร้อมมากกว่าผู้สนใจรายอื่น ทั้งฐานข้อมูลแอปพลิเคชั่น เทคโนโลยี และฐานลูกค้าจากผู้ให้บริการที่เป็นพันธมิตรมาแชร์กัน อีกทั้งเป็นกลุ่มที่มีฐานทุนที่แข็งแรงที่สุด ซึ่งค่อนข้างตรงกับเกณฑ์ของ ธปท.

ส่วนกลุ่ม SCB ก็มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีที่สูง และมีโมเดลในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินของพันธมิตร Virtual Bank ต่างชาติ โดยเฉพาะ KAKAO ที่เป็นผู้นำ Virtual Bank ในเกาหลีใต้ แต่การจับมือกับ Virtual Bank ต่างชาติ และ WeBank จากจีน ซึ่งมีโมเดลที่ประสบความสำเร็จการทำธุรกิจในแถบเอเชียอยู่แล้ว ก็สามารถนำมาปรับใช้กับการทำธุรกิจในประเทศไทยได้

และอีกราย อาจจะต้องลุ้นว่ากลุ่มใหญ่อย่างซีพี ที่มีทรูมันนี่ และเครือข่ายโทรศัพท์ และฐานลูกค้าจากทรู และดีแทค รวมถึงเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ จะมีโอกาสอย่างไรในการเข้าร่วมยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank ในครั้งนี้ ซึ่งยังคงต้องติดตาม

นายธนเดช ยังมองภาพการแข่งขันหลังจากได้ใบอนุญาต Virtual Bank ว่า การแข่งขันอาจจะไม่รุนแรง เพราะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ทั้งในแง่การออกผลิตภัณฑ์ และการแข่งขันด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันด้านราคามากเกินไป และธปท.ต้องการสร้างสมดุลระหว่างธุรกิจใหม่กับธุรกิจเดิม

โดยคาดว่าในช่วง 2-3 ปีแรก Virtual Bank จะยังขาดทุน และค่อยเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นมา แต่ยังต้องจับตาดูในส่วนของ NPL ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งช่วงแรกคงยังไม่สูง แต่ก็ต้องมีการตั้งสำรองฯ ป้องกันความเสี่ยงไว้ก่อน และมีการบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับสถานการณ์

สำหรับจำนวนเป้าหมายที่เหมาะสมของผู้ประกอบธุรกิจ Virtual Bank ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยระบุไว้ว่า จะอยู่ที่ไม่เกิน 3 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่เหมาะสมและสามารถเห็นความหลากหลายได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ยังมี impact ในแง่ของการแข่งขัน เพราะหากจำนวนน้อยกว่านี้ อาจจะมีปัญหาในด้านเสถียรภาพระบบการเงินได้

ทั้งนี้ ธปท. คาดว่าจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ที่สมควรได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้ภายในครึ่งแรกของปี 2568 จากนั้นจะส่งชื่อให้ รมว.คลัง พิจารณาเห็นชอบ เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว จะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินธุรกิจได้ภายใน 1 ปี

ความมุ่งหวังของ ธปท. ในการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจ Virtual Bank

  • เปิดให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การให้บริการดิจิทัล และการใช้ข้อมูลที่หลากหลาย เข้ามาให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ใช้บริการรายย่อย และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอ หรือตรงความต้องการ
  • สร้างประสบการณ์ในการใช้บริการทางการเงินที่ดีขึ้นแก่ผู้ใช้บริการ
  • ช่วยกระตุ้นการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินไทยอย่างเหมาะสม โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน หรือเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของผู้ฝากเงินหรือผู้ใช้บริการในวงกว้าง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ