"โอกาสไทยสู่ Hub โลก" เร่งลดต้นทุน-พัฒนาทักษะดิจิทัล-แก้ กม.ลดอุปสรรคทำธุรกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 9, 2024 17:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในงานสัมมนา "Accelerate Thailand ขับเคลื่อนไทยไปเชื่อมโลก" หัวข้อ "เอกชน-รัฐ ร่วมขับเคลื่อนไทยสู่ฮับโลก" ว่า ท่ามกลางความท้าทายมากมาย ภาคอุตสาหกรรมต้องรับบทหนักเพราะโลกเปลี่ยน ทั้ง Digital Disruption ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า รวมทั้งสงครามชิป และที่สำคัญคือความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยที่เริ่มลดลง เนื่องจากสินค้าไทยล้าสมัย และไม่เป็นที่นิยม

ส.อ.ท. จึงได้ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้ผู้ประกอบการ SMEs สู่ Smart SMEs ด้วยแนวทาง 4 GO ได้แก่

1. GO Digital & AI: โครงการ "Digital One" เพื่อช่วยยกระดับ SMEs ทั่วประเทศ ผ่านการประยุกต์ใช้ระบบดิจิทัล, พัฒนาทักษะแรงงานด้านดิจิทัล และส่งเสริมการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ

2. GO Innovation: สร้าง SMEs จิ๋วแต่แจ๋วด้วยนวัตกรรม และส่งเสริมให้ SMEs ผ่านกองทุน Innovation One มูลค่า 1,000 ล้านบาท

3. GO Global: สร้าง New Exporter เพื่อขยายการส่งออกสู่ตลาดโลก และยกระดับมาตรฐานสู่สากล และเข้าสู่ห่วงโซ่ Supply Chain ในตลาดโลก

4. GO Green: ส่งเสริมและเตรียมความพร้อมให้กับ SME ตามแนวคิด ESG และการปรับตัวสู่เป้าหมาย Net Zero และส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงภายใต้แนวคิด BCG Model

"การจะผลักดันให้ไทยเป็นฮับในด้านต่าง ๆ เริ่มแรกต้องดูที่จุดแข็งของประเทศ โดยในอดีต ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และได้ผันตัวมาเป็นอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มรายได้ แต่จุดแข็งที่มีเริ่มหมดไป และยังมีคู่แข่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการจะเป็นฮับได้นั้น จำเป็นต้องหาจุดที่จะไปได้ต่อ อย่างไรก็ดี มองว่าด้วยศักยภาพของไทย ต้องไปสู่ New Industry ด้วย BCG Economy โดยเฉพาะการจะเป็นฮับด้าน BIO ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐ โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำ และการปรับผังเมืองทั้งหมดให้สอดคล้อง และมีระบบโลจิสติกส์ที่ดี" นายเกรียงไกร กล่าว

สำหรับนโยบายเร่งด่วนที่อยากให้ภาครัฐดำเนินการ คือการลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพขีดความแข่งขัน โดยเฉพาะพลังงานเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่แพงกว่า ซึ่งรัฐจำเป็นต้องรีบลดค่าไฟ และหาพลังงานสะอาดมาเพิ่มเติม นอกจากนี้ ต้นทุนการกู้เงินก็มีปัญหา ซึ่งล่าสุดทั่วโลกเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยแล้ว ดังนั้น ของไทยก็ควรลดดอกเบี้ยด้วย

ส่วนนโยบายเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาท ที่จะเริ่มในวันที่ 1 ต.ค. นี้ ส.อ.ท. เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงที่เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนมีกำลังซื้อ แต่ในมุมหนึ่งก็ต้องช่วยแรงงาน และต้องดู SMEs ด้วย เนื่องจากกว่าครึ่งหนึ่งยังเป็นแรงงานเข้มข้น ดังนั้น การขึ้นให้เหมาะสมต้องยึดตามไตรภาคี ปรับค่าแรงให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ เน้นย้ำว่าต้องระมัดระวังเรื่องต้นทุนทุกอย่างให้เหมาะสม และขอเวลาในการปรับตัว เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น แข็งแรงขึ้นก็จะค่อย ๆ ปรับไป

นายเกรียงไกร กล่าวว่า สิ่งที่ไทยต้องเปลี่ยนทันที คือการเมืองต้องนิ่ง รัฐบาลต้องมีเสถียรภาพและต่อเนื่อง เพราะวันนี้ยอดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ร่วงจากอันดับ 3 มาเป็นอันดับ 6 เนื่องจากนักลงทุนไม่ชอบเซอร์ไพรส์ นอกจากนี้ ต้องรีบเร่งเรื่องความง่ายในการทำธุรกิจ ด้วยการกิโยตินกฎหมาย ไม่ให้เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และสุดท้ายคือเรื่องโลจิสติกส์ ที่ต้องพัฒนาให้เชื่อมโยงกันทั้งหมดเพื่อลดต้นทุน โดยย้ำว่า สิ่งสำคัญคือถ้าต้นทุนทุกอย่างยังแพง ไทยจะไปไหนไม่ได้

ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. กล่าวว่า กลจักรสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจไทย คือการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะสามารถทำนักท่องเที่ยวทะลุเป้าเกิน 36 ล้านคนได้ ซึ่งหน้าที่ของ AOT คือการรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวให้ดี และมากที่สุด โดยตั้งเป้าหมายจะเป็น 1 ใน 20 อันดับสนามบินที่ดีที่สุดในโลกภายใน 5 ปี โดยต้องการขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร ภายในปี 72 ไปให้ถึง 83 ล้านคน นำรายได้เข้าประเทศคิดเป็น 3% ของ GDP

ทั้งนี้ การเป็นฮับคือให้มีการเปลี่ยนเครื่องมาที่ไทยมากขึ้น โดยไทยมีตำแหน่งที่ดีในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ สิ่งที่ต้องทำคือทำตัวเองให้เป็นสนามบินที่น่าเดินทาง AOT จึงขยายขีดความสามารถของสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งการเปิดอาคาร SAT 1 และสร้างรันเวย์ 3 ซึ่งจะเปิดใช้งานเดือนพ.ย. นี้ เพื่อให้การขึ้นลงของเครื่องบินไม่ต้องบินวนรอ พร้อมก่อสร้าง South Terminal ในปี 70 ด้วยวงเงินลงทุน 120,000 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารได้ขนาด 70 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ จะมีการขยาย East Expansion ประมูลผู้รับจ้างในเดือนธ.ค. นี้ ด้วย

สำหรับสนามบินดอนเมืองจะยังเป็นศูนย์กลาง โดยมีแผนสร้าง Terminal 3 ให้เป็นอินเตอร์ และปรับปรุง Terminal 1 และ Terminal 2 รวมเป็น 1 Domestic ขนาดใหญ่ โดยจะเริ่มกลางปี 68

"จุดแข็งเราคือ Geopolitical จะทำให้ไทยสามารถดึงบทบาทในการเป็นศูนย์กลางการบินได้ การใช้จ่ายต่อหัวของคนที่มาเที่ยวเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วย ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญในภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากกังวลว่าคนที่เข้ามา จะมาใช้ทรัพยากร และใช้บริการภาครัฐ แต่ไม่ได้ใช้จ่าย จึงอยากได้คนที่เดินทางมาท่องเที่ยวจริง ๆ รัฐต้องทำให้คนที่มาแล้วใช้จ่ายในสินค้าและบริการของไทยจริง ๆ" นายกีรติ กล่าว

ด้าน นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทย ต้องเจอ Digital Disruption ส่งผลให้ผลิตภาพต่ำ การแข่งขันสูง ต้องเจอผลกระทบจากดิจิทัล และเสียเปรียบทางการค้า ซึ่งแนวทางที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ คือการพัฒนาทักษะดิจิทัล ซึ่งจะสร้างโอกาสในการทำงานมากขึ้น ทำให้ธุรกิจเติบโตได้ และเกิด New S-Curve แต่หากไทยยังขาดทักษะดิจิทัลต่อไป โอกาสในการทำงานก็จะมีจำกัด ธุรกิจก็อาจหยุดชะงัก และอุตสาหกรรมก็จะล้าหลัง จนนำไปสู่เศรษฐกิจถดถอยได้

ทั้งนี้ ดิจิทัลสกิลที่คนไทยควรเรียนรู้ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว มีทั้งหมด 7 ทักษะ คือ 1. การใช้อุปกรณ์ดิจิทัลพื้นฐาน 2. อินเตอร์เน็ตและระบบเครือข่าย 3. สื่อสังคมออนไลน์ 4. การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 5. ปัญญาประดิษฐ์ 6. สิทธิดิจิทัล และ 7. แนวปฎิบัติด้านความปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังควรให้ความสำคัญกับทักษะดิจิทัลสำหรับอาชีพยุคใหม่ (Digital-driven Career) เช่น Game Industry, Digital Administration และ Influencer Digital เป็นต้น รวมทั้งทักษะดิจิทัลสำหรับอาชีพด้านดิจิทัล (Digital Professional) เช่น Data and Artificial Intelligence และ Blockchain and Distributed Ledger Technology เป็นต้น

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) กล่าวว่า ประเทศไทยโด่งดังเรื่องการท่องเที่ยว และเรื่องอาหารไทย ซึ่งตอนนี้อร่อยแค่ในไทย ทำอย่างไรให้อาหารไทยอร่อยไปทั่วโลก ดังนั้น บริษัทต่าง ๆ รวมทั้งรัฐบาล ควรต้องช่วยสร้างมาตรฐานอาหารไทย เพื่อต่อไปให้เป็นแบรนด์ดิ้ง ที่รัฐบาลไทยให้การรับรองคุณภาพความสะอาด ปลอดภัย

อย่างไรก็ดี ต้องใช้เงินและความพยายามค่อนข้างมาก และใช้เวลายาวนาน แต่เป็นเรื่องที่ควรลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานที่ดี นอกจากนี้ รัฐบาลควรเข้ามาสนับสนุนเรื่อง AI Engineer ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ