ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS มองว่า อุตสาหกรรมเหล็กไทยต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแข่งขันกับเหล็กนำเข้าจากประเทศจีนที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด และกดดันให้ราคาเหล็กอยู่ในเทรนด์ขาลง ทำให้ผู้ประกอบการจะมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนจากปัญหา Stock Loss ได้ ทั้งนี้ ในช่วง 1H/67 ธุรกิจเหล็กไทยต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายหลายด้าน ได้แก่
1. ความต้องการใช้เหล็กที่หดตัวลง -5.4% ตามภาวะอุตสาหกรรมปลายน้ำ โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ และภาคก่อสร้าง
2. เหล็กนำเข้ากลับมีสัดส่วนเพิ่ม แตะระดับเกือบ 70% ของการบริโภคเหล็กไทย
3. ราคาเหล็กขาลงจากปัญหาในภาคอสังหาฯ จีน ภาวะดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยกว่าครึ่ง เริ่มมีสัญญาณว่าอาจมีปัญหาด้านรายได้ กำไร และสภาพคล่อง
โดยความต้องการใช้เหล็กโดยเปรียบเทียบของไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 67 หดตัว -5.4% (YoY) ลงมาอยู่ที่ 8.0 ล้านตัน ซึ่งเป็นไปตามทิศทางอุตสาหกรรมปลายน้ำโดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ และการก่อสร้างที่หดตัว -17.4% (YoY) และ -11.2% (YoY)
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่าการใช้เหล็กของไทย มีสัดส่วนของ "เหล็กนำเข้า" เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แตะระดับ 69.0% ใน 1H/67 ซึ่งส่วนใหญ่ คือเหล็กจีน ที่ในปัจจุบันความต้องการใช้เหล็กในจีนยังมีปัญหาจากภาวะอสังหาฯ ทำให้ต้องเร่งระบายผ่านการส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ จึงส่งผลต่อเนื่องให้ราคาเหล็กใน 1H/67 อยู่ในเทรนด์ขาลงต่อเนื่อง และต่ำกว่าปีก่อนหน้าราว -9 ถึง -7%
ทั้งนี้ ภาวะดังกล่าว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงานของธุรกิจ สะท้อนจากผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มากกว่าครึ่งหนึ่ง ต่างส่งสัญญาณว่าอาจมีปัญหาด้านรายได้ การทำกำไร และสภาพคล่อง
Krungthai COMPASS คาดว่า ทั้งปี 67 การใช้เหล็กของไทยจะอยู่ที่ 15.7 ล้านตัน หดตัว -3.8% โดยมีปัจจัยกดดันหลักจากการผลิตรถยนต์ที่คาดว่าทั้งปีจะหดตัว -11.7% ลงมาเหลือ 1.62 ล้านคัน ขณะที่ภาคก่อสร้าง คาดว่าแม้จะสามารถเร่งเบิกจ่ายได้ในครึ่งหลังของปี แต่การที่มูลค่าก่อสร้างติดลบอย่างหนักในครึ่งแรกของปี คาดว่าจะทำให้มูลค่าก่อสร้างทั้งปี 2567 จะอยู่ในระดับทรงตัว
ส่วนในปี 68 คาดว่าความต้องการใช้เหล็กจะอยู่ที่ 16.0 ล้านตัน ฟื้นตัวเล็กน้อย +2.1% ตามทิศทางการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมปลายน้ำ แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ที่ราว 17.3 ล้านตัน อยู่พอสมควร ส่วนทิศทางราคาเหล็กมองว่าขึ้นอยู่กับภาวะอสังหาฯ จีน โดยหากยังไม่อยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น ก็มีโอกาสที่ราคาเหล็กจะอยู่ในเทรนด์ขาลงต่อไป
สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตาในระยะถัดไป ได้แก่
1. สัดส่วนการใช้เหล็กต่อรถยนต์ 1 คัน มีแนวโน้มที่จะลดลง ในอนาคตโครงสร้างการผลิตรถยนต์ของไทยจะทยอยเปลี่ยนไป รถยนต์ ICE จะมีสัดส่วนน้อยลง และถูกแทนที่ด้วย BEV โดยจากการค้นคว้า พบว่า การผลิตรถยนต์ ICE มีแนวโน้มลดลงเหลือ 800-900 กิโลกรัม สำหรับ BEV โดยแนวโน้มการใช้เหล็กของรถยนต์ BEV ที่น้อยกว่า ICE มีสาเหตุ 2 ประการ คือ เกิดขึ้นจากความพยายามลดน้ำหนักรถยนต์ด้วยการใช้วัสดุน้ำหนักเบา (Light Weight Materials) เพื่อขยายระยะทางวิ่งให้ไกลที่สุด และอีกสาเหตุที่ทำให้ BEV มีอัตราการใช้เหล็กน้อยลงยังเกิดขึ้นจากการหายไปของเครื่องยนต์สันดาป ถูกแทนที่ด้วยแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้า
2. โครงการ Mega Projects ใหม่ ๆ ของภาครัฐจะสนับสนุนการใช้เหล็กทรงยาวของไทย ในส่วนของเหล็กทรงยาว อาทิ เหล็กเส้นกลม เหล็กข้ออ้อย และเหล็กลวด คาดว่าในระยะถัดไปจะได้รับแรงสนับสนุนการภาคก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจกต์คมนาคมขนาดใหญ่ของไทย สะท้อนจากการคาดการณ์การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐสำหรับโครงการเมกะโปรเจกต์ในปี 68-69 ซึ่ง TDRI มองว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าปีละ 2.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 67 นี้
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความพยายามของภาครัฐ ที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้วัสดุก่อสร้างที่ผลิตในประเทศ (Local Content) สำหรับงานก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ซึ่งหากทำได้เชื่อว่าจะช่วยให้ผู้ผลิตเหล็กของไทยสามารถแข่งขันกับเหล็กนำเข้าได้ดีขึ้น
3. ประเด็น ESG กดดันผู้ประกอบการทั้งต้นทุนดำเนินงาน และการแข่งขัน โดยในเดือน ต.ค. 66 ที่ผ่านมา สหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศใช้มาตรการเก็บต้นทุนคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) กับสินค้านำเข้า 6 ชนิด ซึ่งแน่นอนว่ามี "เหล็ก" อยู่ด้วย โดยผลกระทบทางตรงต่อผู้ส่งออกเหล็กของไทยไปยัง EU คือ การมีต้นทุนการส่งออกที่สูงขึ้น อาทิ การพัฒนาสายการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น ผ่านการใช้พลังงานสะอาด และการมีต้นทุนในการปฎิบัติตามเกณฑ์ของ EU ทั้งการจัดทำปริมาณการปล่อยมลภาวะ หรือการจ้างผู้ทวนสอบ (Verifiers)