นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "รื้อ ลด ปลด สร้าง เพื่อเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ความยั่งยืน" ในงานสัมมนา "พลังงานสะอาด ความยั่งยืน และทางรอดของธุรกิจยุคใหม่" ว่า ความยั่งยืนด้านพลังงาน คือ ความยั่งยืนผู้ประกอบการ และ ประชาชนผู้ใช้พลังงาน ซึ่งในความเป็นจริงความยั่งยืนทั้งสองด้านไปด้วยกันไม่ได้ เพราะความยั่งยืนของฝั่งผู้ประกอบการคือกำไร แต่ประชาชนคือราคาต่ำ แต่จะทำอย่างไรให้เจอกันตรงกลางและไปด้วยกันได้ และทางรอดของธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานสะอาด ความยั่งยืนอยู่ตรงไหน
ขณะนี้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงขึ้นทุกวัน กลายเป็นต้นทุนสำคัญของภาคธุรกิจ เพราะฉะนั้นธุรกิจที่ใช้ไฟฟ้ามาก หากไม่ลดต้นทุนธุรกิจนั้นก็ไปไม่รอด หลายบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนในแต่ประเทศก็จะพิจารณาจากค่าไฟที่อยู่ในระดับต่ำก่อน ซึ่งแต่ละประเทศมีอัตราค่าไฟแตกต่างกัน ขึ้นกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เช่น เวียดนามค่าไฟถูกเพราะต้นทุนผลิตไฟฟ้าต่ำเนื่องจากใช้ถ่านหินค่อนข้างมาก ขณะที่ประเทศไทยใช้ก๊าซเป็นหลัก ทำให้ต้นทุนแพงกว่า แม้จะมีการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าอยู่บ้าง
"พลังงานสะอาดมีราคาต้องจ่าย ไม่ได้ได้มาฟรี ได้อย่างเสียอย่าง เพราะพลังงานสะอาดต้องรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่เช่นนั้นประเทศมีแต่มลพิษ พยายามให้ลดน้อยลง การต้องเปลี่ยนจะเกิดค่าใช้จ่าย"
ประเทศไทยเจอปัญหาต้นทุนไฟฟ้าสูง ทำให้การแข่งขันกับต่างประเทศด้อยลง การดึงดูดลงทุนต่างชาติเข้ามาในไทยสู้กับต่างประเทศไม่ได้ จึงต้องหาแรงจูงใจอื่นมาดึงดูดการลงทุนแทน กลายเป็นความท้าทายของรัฐบาลและผู้ประกอบการที่ต้องใช้ไฟฟ้ามาก ที่สำคัญทำอย่างไรให้พลังานสะอาด ยั่งยืน และทางรอดธุรกิจไปด้วยกันได้
นายพีระพันธ์ กล่าวว่า ในประเทศไทย พลังงานสะอาดมาจาก 1.การผลิตไฟฟ้าจากน้ำ 2.ผลิตจากลม 3.ผลิตจากแสงแดด แต่การผลิตจากพลังงานลมยังมีไม่มาก เพราะระบบกังหันหมุนให้เกิดไฟฟ้ามีจำกัดในไทย และลมในทะเลอ่าวไทยไม่เพียงพอผลิตพลังงานสะอาดได้มากนัก
ขณะที่การผลิตไฟใช้เองจากการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปนั้น ยังต้องขออนุญาตหลายขั้นตอน จึงจำเป็นต้องใช้ รื้อ ลด ปลดสร้างมาใช้ โดยตลอดเวลาที่ทำ จะรื้อทั้งหมด กฎเกณฑ์ไม่เป็นธรรม และในฐานะรองนายกฯ ดูกระทรวงอุตฯ สมัยรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สั่งการแก้กฎกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เช่น การใช้ไฟฟ้าไม่ต้องขอใบ รง.4 สำหรับใช้ไฟฟ้าในบ้านและสถานประกอบการ แต่กฎกระทรวงไม่แน่นอน เพราะเปลี่ยนรัฐมนตรีก็เปลี่ยนกฎได้
รมว.พลังงาน กล่าวว่า การที่จะยั่งยืนมากกว่านี้ คือ ต้องรื้อทั้งระบบ และออกกฎหมายใหม่ คำถามคือจะติดไฟในบ้านทำไมถึงต้องขออนุญาตกระทรวงอุตสาหกรรม และต้องไปอีกหลายหน่วยงาน เช่น อยู่ในกรุงเทพก็ไปที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) อยู่ต่างจังหวัดก็ไป อบต. เพราะเกรงว่าติดโซลาร์เซลล์อาจทำให้หลังคาพัง แต่ทำไมไม่เปลี่ยนจากขออนุญาตเป็นแจ้งให้ทราบ ทำไมต้องให้ชีวิตคนยุ่งยาก ถ้ารื้อระบบแบบนี้ได้จะช่วยลดภาระประชาชนและผู้ประกอบการ หากไม่ใช่ติดเพื่อขายไฟ แต่ติดเพื่อใช้เองในอาคารบ้านเรือนหรือสถานประกอบการ เพื่อควบคุมต้นทุน ค่าใช้จ่าย ลดปริมาณความต้องการไฟฟ้าหลัก และสร้างพลังงานสะอาดด้วย
ส่วนกฎหมายด้านพลังงานฉบับใหม่เสร็จแล้ว เพื่อใช้กำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมัน โดยจะนำระบบคิดราคาตามต้นทุนที่แท้จริง (Cost Plus) เข้าใช้แทนระบบอ้างอิงราคาน้ำมันต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันต้องอ้างอิงตลาดน้ำมันของต่างประเทศ และต้องเข้าใจว่าประเทศไทยไม่มีการแข่งขันเสรีในตลาดน้ำมัน