คลัง คาดใช้เวลา 1-2 ปี ศึกษา Negative Income Tax โอบอุ้มผู้มีรายได้น้อย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 13, 2024 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คลัง คาดใช้เวลา 1-2 ปี ศึกษา Negative Income Tax โอบอุ้มผู้มีรายได้น้อย

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงถึงนโยบายการศึกษาระบบภาษีรูปแบบใหม่ ที่นำมาบรรจุเป็นแนวนโยบายของรัฐบาล (Negative Income Tax) ว่า แนวความคิด Negative Income Tax เป็นการนำตัวอย่างจากต่างประเทศ ที่ต้องการสร้างตาข่ายรองรับสังคม ไม่ให้ใครตกไปอยู่กรอบแห่งความยากลำบากและความยากจน โดยจะมีเกณฑ์เพื่อวัดเส้นแห่งความยากจนที่มีความเหมาะสม หากประชาชนสามารถยื่นแบบภาษีได้ทุกคน เมื่อใครเกินเส้นนี้ ก็เสียภาษีตามอัตราที่เหมาะสมต่อไป

ในขณะที่คนที่ต่ำกว่าเส้นที่กำหนด กลไกของภาษีจะสามารถเป็นภาษีติดลบที่สามารถกลับไปเพื่อไปชดเชยอุดหนุนให้สามารถลืมตาอ้าปากต่อสู้ได้ รวมถึงทำให้ประชาชนเกิดความกล้า เกิดความคิดในการลงทุนในการเดินหน้าชีวิต

แนวคิดนี้จะเป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่ทำให้ประชาชนรู้อยู่เสมอว่า ข้างหลังมีรัฐบาลที่คอยประคับประคองให้เขากลับมาลุกขึ้นยืนได้ใหม่ ไม่ว่าจะล้มอีกกี่ครั้งก็ตาม และทำให้คนในประเทศเปลี่ยนแนวความคิด เพิ่มแรงจูงใจในการประกอบอาชีพ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกัน โดยกระทรวงคลัง จะเป็นแม่งานในการศึกษารายละเอียดให้ครบถ้วนต่อไป โดยจะเร่งศึกษาในระยะเวลา 1-2 ปี เพื่อในที่สุดแล้วประชาชนคนไทยทุกคนจะได้สามารถมีตาข่ายที่มั่นใจได้ว่า จะคอยรองรับอยู่ในทุกสถานการณ์

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า การนำมาบรรจุในแนวนโยบายรัฐบาล เพื่อให้เกิดการศึกษาอย่างละเอียด และเป็นแนวคิดตอบโจทย์ปัญหาต่าง ๆ เช่น เรื่องแรงงาน ซึ่งขณะนี้มีแรงงานมากกว่า 50% อยู่นอกระบบ ทำให้เราไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างเป็นรูปธรรม

ขณะเดียวกัน ประชาชนผู้มีรายได้ต่ำ มีประมาณ 4 ล้านคน ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน และมีประมาณ 5 ล้านคน ที่อยู่ในจุดที่เรียกว่าเกือบจน ซึ่งกลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเปราะบาง และรัฐบาลก็มีแนวคิดหาหนทางช่วยเหลือมาตลอด

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ปัญหาระบบฐานภาษีของประเทศไทย มีคนเข้าสู่ระบบฐานภาษีค่อนข้างน้อย มีคนยื่นแบบภาษีเงินได้เพียงแค่ 10 ล้านคน แต่มีคนเสียภาษีจริง ๆ ประมาณ 3-4 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่ผูกโยงเข้าด้วยกันทั้งหมด

ส่วนจะเป็นการชดเชยหรือทดแทนสวัสดิการที่มีอยู่หรือไม่นั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ในสวัสดิการแต่ละประเภท มีหลักการคำนวณที่แตกต่างกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นคนละประเด็น เนื่องจากเป็นคนละวัตถุประสงค์ แต่ด้วยเม็ดเงินที่จำกัดของภาครัฐ ต้องบริหารจัดการให้เกิดความเหมาะสมต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ