KBANK คาดบาทสัปดาห์หน้าลุ้นแตะ 33 บาท/ดอลลาร์ จับตา Flow-ราคาทอง-ผลประชุมเฟด

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday September 14, 2024 12:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า (16-20 ก.ย.) ที่ระดับ 33.00-33.80 บาท/ดอลลาร์ จากปิดตลาดในวันศุกร์ที่ 13 ก.ย. 67 ที่ 33.32 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงต้นสัปดาห์เงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค และการย่อตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อคืนของนักลงทุนท่ามกลางการปรับการคาดการณ์ของตลาดมามองว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในขนาดที่มากกว่า 25 bps. ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. นี้

อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นและแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือนครั้งใหม่ที่ 33.26 บาทดอลลาร์ ตามการพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใหม่ของราคาทองคำในตลาดโลก และการแข็งค่าของเงินเยนซึ่งมีแรงหนุนจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่นในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ เงินบาทน่าจะมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากสถานะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ สวนทางเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง หลังธนาคารกลางยุโรปยังไม่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบการประชุมหน้า (แม้จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมรอบนี้) ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีราคาผู้ผลิตก็ออกมาแย่กว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดด้วยเช่นกัน

สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 9-13 ก.ย. 67 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 9,474 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 3,692 ล้านบาท (แบ่งเป็น ซื้อสุทธิพันธบัตร 3,752 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 60 ล้านบาท)

ส่วนปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์หน้า ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก และสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค หลังผลการประชุมนโยบายการเงิน การเปิดเผยตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ Dot Plots ของเฟด (17-18 ก.ย.) ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและฟิลาเดลเฟีย และดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนก.ย. ตัวเลขยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม การเริ่มสร้างบ้าน และยอดขายบ้านมือสองเดือนส.ค. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (19-20 ก.ย.) ธนาคารกลางอังกฤษ (19 ก.ย.) การกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน รวมถึงข้อมูลอัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของอังกฤษ ยูโรโซน และญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ