"นฤมล" เดินหน้าสานต่อ 9 นโยบายเกษตร ตามแนวคิด "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้"

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 16, 2024 12:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายขับเคลื่อนงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 67 โดยนโยบายด้านการเกษตร รัฐบาลยังคงเน้นยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย ด้วยแนวคิด "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้"

โดยมุ่งเน้นให้นำเทคโนโลยีด้านการเกษตร เช่น เกษตรแม่นยำ หรือเกษตรอัจฉริยะ มาใช้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง ดึงจุดเด่นของประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการของโลกด้านความมั่นคงทางอาหาร เร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร รวมทั้งยกระดับรายได้ของเกษตรกร นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นในเรื่องการจัดการที่ดินทำดินให้เกษตรกร และการบริหารจัดการน้ำ โดยจะต้องเชื่อมโยงกับทุกหน่วยงานในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรัฐบาลชุดนี้ จะยึดหลักการทำงาน คือพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ และเน้นการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการเกษตรและวิสัยทัศน์ Ignite Thailand โดยจะยังคงสานต่อ 9 นโยบายสำคัญ ให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ดังนี้

1. เน้นการสร้างวิธีการทำงานสู่การปฏิบัติ ได้แก่

  • เพิ่มประสิทธิภาพศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช โดยเน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการให้บริการแบบเข้มข้น เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่ สามารถรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ ขอรับความช่วยเหลือ และส่งต่อเรื่องให้ศูนย์บริการฯ ส่วนกลางได้โดยที่เกษตรกรไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ศูนย์บริการฯ
  • ขยายครอบครัวเกษตร บูรณาการงานอย่างเข้มแข็ง การทำงานแบบครอบครัวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำเป็นต้องเพิ่มความเข้มแข็ง โดยขยายความร่วมมือในการทำงานแบบบูรณาการกับพี่น้องเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และคนในภาคการเกษตร
  • สานต่อภารกิจการกำกับดูแลสินค้าเกษตร ทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมง โดยผลักดันกลไก MR. สินค้าเกษตร ให้ทำงานแบบเชิงรุก รับฟังและเตรียมการแก้ไขปัญหาไว้ล่วงหน้าได้ถูกจุดตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

2. เร่งรัดการจัดที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร ขยายผลการยกระดับเอกสารสิทธิให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร รวมถึงพัฒนาช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุน พร้อมยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน และสามารถแปลงสินทรัพย์ในที่ดินให้เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างรายได้และความยั่งยืนให้กับเกษตรกร

3. บริหารจัดการน้ำ ให้เกิดประสิทธิภาพเพื่อการเกษตร รวมถึงบริหารจัดการทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และการเติมน้ำในเขื่อน

4. ยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ด้วยการต่อยอดโครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง สร้าง Brand หรือ Story ของจังหวัด/อำเภอ โดยเน้นการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ รวมถึงส่งเสริมการสร้างอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

5. ยกระดับศักยภาพของเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง ได้แก่

  • ส่งเสริมการทำธุรกิจสหกรณ์การเกษตรให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน และนำแหล่งทุนมาต่อยอดธุรกิจสร้างรายได้เพิ่มเพื่อประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์การเกษตร
  • ส่งเสริมเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรเป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรครบวงจร โดยเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรมีเครื่องมือ เครื่องจักรกลของตนเอง เพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของตนเอง และพร้อมเป็นผู้ให้บริการด้านธุรกิจเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้

6. จัดการทรัพยากรทางการเกษตร ได้แก่

  • ทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วย BCG โดยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับนโยบาย/ มาตรการการค้าด้านสิ่งแวดล้อมโลก เช่น EUDR, CBAM และ Carbon Credit โดยทำการเกษตรที่ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม การลดการเผาซังข้าว/ ตอซัง การกำจัดแมลงศัตรูพืชที่ถูกต้อง การลดปริมาณปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง และส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย การเกษตรที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการแก้ปัญหา PM 2.5 การนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปใช้ในการผลิตพลังงาน
  • ส่งเสริมฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เหมาะสมกับการผลิต (Agri-Map) รวมถึงฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน

7. รับมือกับภัยธรรมชาติ ต้องมีการวางแผนและมีมาตรการเชิงรุก เพื่อรับมือตั้งแต่การป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟู เมื่อประสบเหตุภัยแล้ง หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติทุกชนิด เช่น มาตรการเยียวยา และ/หรือมาตรการฟื้นฟูสำหรับเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย เป็นต้น

8. สานต่อการทำสงครามสินค้าเกษตรเถื่อน โดยดำเนินการปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายให้เข้มงวดยิ่งขึ้น รวมถึงการตรวจสอบสต็อกสินค้าเกษตรในประเทศ เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาผลผลิตในประเทศ และควบคุมการนำเข้า/ป้องกันการกักตุน/เก็งกำไร โดยเฉพาะช่วงก่อนที่ผลผลิตออกสู่ตลาด

9. อำนวยความสะดวกด้านการเกษตร ได้แก่

  • พัฒนาระบบการประกันภัยภาคการเกษตร เพื่อเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยง และสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร
  • ผลักดันนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ โดยต้องใช้กลไกความร่วมมือจากภาคเอกชน/ผู้ประกอบการ รวมถึงทูตเกษตร ในการขยายตลาดเดิม และเพิ่มตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการใช้นวัตกรรมมาเป็นจุดขายสินค้าเกษตร ผ่านแอปพลิเคชันทั้งออนไลน์และออฟไลน์
"นโยบายทั้ง 9 ด้าน ของกระทรวงเกษตรฯ มุ่งให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรไทยอย่างต่อเนื่อง และช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา ยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องเกษตรกรไทยให้อยู่ดีกินดี สินค้าเกษตรมีมูลค่าสูง และทรัพยากรเกษตรยั่งยืน ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของครอบครัวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงความร่วมมือในการทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ตลอดจนภาคีต่าง ๆ และที่สำคัญ คือความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจจากพี่น้องเกษตรกรไทย และคนในภาคการเกษตรทุก ๆ ฝ่ายไปพร้อมกัน" รมว.เกษตรฯ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ