คมนาคมจ่อคิวชง ครม.เดินหน้าโครงการลงทุนเฉียดแสนล้าน พ.ร.บ.ตั๋วร่วม-ขนส่งทางราง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 16, 2024 17:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (17 ก.ย. 67 ) จะมีการประชุมครม.ที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีนัดแรก ซึ่งมีวาระกรมทางหลวง (ทล.) ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (งบกลาง ปี 67) รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น หรือ จ่ายเงินชดเชยค่างาน (ค่าK) ผู้รับเหมา วงเงิน 800 ล้านบาท เพิ่มเติมจากก่อนหน้านี้ที่อนุมัติจ่ายไปแล้วจำนวน 600 ล้านบาท สำหรับผู้รับเหมาที่มีงานก่อสร้างบนถนนพระราม 2 เพื่อจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้รับเหมา และสามารถเร่งรัดโครงการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ เพื่อปิดตำนานการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ภายในเดือน มิ.ย. 68 ตามนโยบายให้ได้

ส่วนก่อนหน้านี้ที่กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอโครงการที่มีความพร้อมดำเนินการงานจำนวน 9 โครงการ ไปยัง ครม. แต่เนื่องจากนายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงมีการส่งเรื่องคืนมานั้น ยืนยันว่าทั้ง 9 โครงการที่ค้างจาก ครม.ชุดก่อนจะส่งกลับไปยัง ครม.อีกครั้ง ส่วนจะได้บรรจุวาระในวันพรุ่งนี้ด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)

สำหรับ 9 โครงการ มีทั้งโครงการลงทุน โดยส่วนใหญ่ผ่านการสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลัง แล้ว หาก ครม.เห็นชอบก็พร้อมเดินหน้าประกวดราคา อีกส่วนเป็นงานเกี่ยวกับการบริหารด้านการเงิน ประกอบด้วย โครงการลงทุน วงเงินรวมเกือบ 1 แสนล้านบาท

1. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ตอนทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. วงเงินลงทุน 56,035 ล้านบาท ใช้รูปแบบการลงทุน PPP Net Cost เป็นเส้นทางแรก

2. โครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. วงเงินลงทุน 31,358 ล้านบาท การลงทุนในรูปแบบ PPP Gross Cost โดยรัฐเป็นผู้ลงทุนค่าเวนคืนที่ดิน ส่วนเอกชนลงทุนก่อสร้างงานโยธาและการบริหารจัดการและบำรุงรักษา (O&M)รัฐเป็นผู้ได้รับรายได้ค่าผ่านทาง และจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการให้แก่เอกชน และรัฐใช้คืนค่าก่อสร้างภายหลัง ใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์

3. โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงินลงทุน 6,473.98 ล้านบาท เสนอ ครม.เพื่อขอทบทวนมติเดิมและปรับกรอบวงเงิน จากก่อนหน้านี้ รฟท.สรุปการศึกษาและเสนอ ครม.ไปแล้ว

ส่วนการขออนุมัติด้านการเงินเพื่อการดำเนินงานองค์กร 4 เรื่อง คือ 1.การรถไฟฯ ขออนุมัติกรอบวงเงินเพิ่มเติม วงเงิน 197.38 ล้านบาทสำหรับงานเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 135 กม.

2.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ขออนุมัติกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน (กรณีรายได้ไม่พอสำหรับรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 30,025.66 ล้านบาท

3.การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เสนอพิจารณากำหนดแนวทางโครงการบริหารและประกอบการท่าเทียบเรือเอ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.)

4.การมอบหมายให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) มอบความรับผิดชอบการบริหารท่าอากาศยานตากให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

และร่างกฎหมาย (พ.ร.บ.) 2 เรื่อง ได้แก่ 1. ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... 2..ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ....


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ