"สุริยะ" ยัน ก.ย.68 เริ่มใช้แน่! รถไฟฟ้า 20 บ.ตลอดสาย ตีคู่คลังตั้งกองทุน IFF

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 16, 2024 18:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากนี้ กระทรวงคมนาคมจะเร่งขยายผลนโยบายรถไฟฟ้าในอัตรา 20 บาทตลอดเส้นทาง (20 บาทตลอดสาย) ไปเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ เพื่อเชื่อมโยงกับนโยบายรัฐบาล พร้อมยืนยันว่าจะเริ่มใช้ได้ทุกสายในเดือนก.ย.68 โดยให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เร่งผลักดันกฎหมาย 2 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. ... ให้ประกาศใช้โดยเร็ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ

นอกจากนี้ ยังเพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม, การเดินหน้าโครงการรถไฟทางคู่, โครงการรถไฟความเร็วสูง ทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2, แนวทางการเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากถนนสู่ระบบราง และโครงการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในภูมิภาค เป็นต้น

ส่วนนโยบายซื้อคืนสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าจากภาคเอกชนกลับมาเป็นของรัฐบาล นั้น นายสุริยะ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลัง จะต้องมีการระดมทุน ซึ่งกระทรวงการคลัง ได้มีการชี้แจงไปบ้างแล้วว่ามีแนวคิดจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund : IFF) ขึ้น ขณะที่กระทรวงคมนาคม จะร่วมให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมกับกระทรวงการคลัง

"เชื่อว่า หากมีการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานฯ จะมีประชาชนสนใจเข้าซื้อกองทุนจำนวนมาก เพราะผลตอบแทนการลงทุนจะคุ้มทุน เนื่องจาก กองทุนฯ จะมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถยนต์ที่วิ่งเข้าเขตเมืองที่มีรถไฟฟ้าบริการ หรือ Congestion Charge เช่น ถนนสุขุมวิท หากรถยนต์ที่วิ่งเข้าไปในเขตนั้นก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงคลังจะจ้างที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดทั้งหมด" นายสุริยะ กล่าว

นายสุริยะ คาดว่า กระทรวงคมนาคม จะดำเนินนโยบายรถไฟฟ้าในอัตรา 20 บาทตลอดเส้นทาง ใช้กับทุกสายได้ในเดือนก.ย. 68 ส่วนกระทรวงการคลัง ก็ศึกษาและดำเนินการเรื่องซื้อคืนสัมปทานแบบคู่ขนานกันไป ซึ่งหากกระทรวงการคลัง ดำเนินการจัดตั้งกองทุนฯ ได้ก่อนก.ย. 68 กระทรวงคมนาคมก็จะเข้าไปร่วม เพราะจะสามารถดำเนินนโยบายค่าโดยสารอัตรา 20 บาทตลอดเส้นทางได้เลย

แต่หากกระทรวงการคลัง ยังไม่สามารถซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าเสร็จได้ทันในเดือนก.ย.68 กระทรวงคมนาคมก็จัดตั้งกองทุนใหม่ขึ้นมาก่อน เพื่ออุดหนุนและชดเชยรายได้ให้เอกชน ซึ่งแหล่งเงินกองทุนใหม่นี้ จะมาจากรายได้สะสมของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และขอสนับสนุนเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน แต่หากไม่เพียงพอ ก็จะขอรับจัดสรรงบกลางมาช่วย

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ประเมินว่า หากเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดเส้นทาง จะต้องชดเชยรายได้ให้เอกชนทั้งโครงข่ายทุกสาย ประมาณ 8,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าอาจจะต้องบริหารจัดการกองทุนนี้ประมาณ 2 ปี รวมเป็นเงินชดเชยประมาณ 16,000 ล้านบาทระหว่างรอกระทรวงการคลังจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

"เรื่องเงินรายได้ของรฟม.นั้น ปัจจุบันมีสะสมกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่การจะนำมาใช้ จะต้องดูรายละเอียดอีกที เพราะต้องไม่ให้กระทบการบริหารงานของ รฟม. ซึ่งอาจจะของบกลางเข้าไปช่วย การตั้งไว้ 2 ปีก่อน เพราะการอุดหนุนส่วนต่างรายได้จากการเก็บ 20 บาทตลอดสาย คงทำได้ในระดับหนึ่ง ไม่ยั่งยืน แม้จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น แต่ก็จะอยู่ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้การเดินรถจะต้องมีเรื่องซ่อมบำรุง และจัดซื้อรถเพิ่มเติม ดังนั้น กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะแก้ปัญหาระยะยาวที่ยั่งยืนกว่าการอุดหนุนอย่างเดียวไม่ยั่งยืน ซึ่งนอกจากซื้อคืนรถไฟฟ้าแล้ว ยังเข้าไปช่วยลดค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชนทุกระบบอื่น เช่น รถเมล์ เรือโดยสาร จะอยู่ภายใต้กองทุนโครงสร้างพื้นฐานนี้ด้วย" รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ