หลายปัจจัยฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ส.ค.ดิ่ง ส.อ.ท.เสนอรัฐเร่งออกมาตรกระตุ้นกำลังซื้อ-เยียวยาภาคธุรกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 18, 2024 10:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค.67 อยู่ที่ 87.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 89.3 ในเดือนก.ค.67 โดยมีปัจจัยด้านลบจากอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลง โดยเฉพาะสินค้าคงทนประเภทรถยนต์ สะท้อนจากยอดขายรถยนต์ในประเทศ 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) อยู่ที่ 354,421 คัน ลดลง 23.71% โดยเฉพาะรถกระบะ และรถบรรทุก เนื่องจากความเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน ขณะที่กำลังซื้อยังเปราะบางจากความกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.8% ต่อ GDP ในไตรมาส 1/2567 ซึ่งกดดันการบริโภคในประเทศ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ทั้งค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ รวมถึงต้นทุนทางการเงิน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงปัญหาการทุ่มตลาดของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ ทำให้สินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงกว่า ส่งผลให้ยอดขายสินค้าลดลง

นอกจากนี้ ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลาง ได้สร้างความเสียหายให้แก่ภาคเกษตร และอุตสาหกรรม รวมถึงส่งผลให้ภาคก่อสร้างชะลอตัวลง ในด้านการส่งออก อัตราค่าระวางเรือ (Freight) ยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางสหรัฐฯ และยุโรป จากการเร่งส่งออกของจีน และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น ขณะที่เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วจากระดับ 36.46 บาท/ดอลลาร์ ในเดือนก.ค.67 มาอยู่ที่ 34.92 บาท/ดอลลาร์ในเดือนส.ค.67 ส่งผลให้สินค้าไทยแพงขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง

อย่างไรก็ดี ในเดือนส.ค.67 ยังมีปัจจัยบวกจากสถานการณ์การเมืองที่คลี่คลายลง ทำให้นักลงทุนและผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และมีความคาดหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณ และการใช้จ่ายภาครัฐ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งภาคการท่องเที่ยว ยังเป็นแรงสนับสนุนการบริโภคในประเทศ จากมาตรการดึงดูดท่องเที่ยวของภาครัฐ

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 93.9 ปรับตัวลดลงจาก 95.2 ในเดือนก.ค.67 โดยมีปัจจัยที่ผู้ประกอบการยังกังวล ได้แก่ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น, ปัญหาหนี้เสียมีแนวโน้มสูงขึ้น, ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยังยืดเยื้อและรุนแรง ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท และในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 67 คาดว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคัก

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้

1. เร่งประกาศและสร้างความชัดเจนในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 อาทิ มาตรการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน เป็นต้น

2. ปรับลดวงเงินประกันการใช้ไฟฟ้าเพื่อเสริมสภาพคล่องในภาคอุตสาหกรรม และชะลอการเรียกเก็บเงินประกันการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม กรณีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในรอบปีสูงขึ้น รวมทั้งทบทวนลดเพดานวงเงินการประกันการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสม

3. ปรับปรุง พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) มาตรการดอบโต้การอุดหนุน (CVD) มาดรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (SG) และมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดระยะเวลาการพิจารณาไต่สวน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสินค้าทุ่มตลาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว

4. ออกมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย อาทิ ยกเว้นภาษีนินิบุคคล ขยายเวลาการยื่นภาษี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร รวมทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว

5. ขอให้ภาครัฐยึดมติคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัดในการพิจารณาอัตรค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและปัจจัยที่ส่งผลกระทบในปัจจุบัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ