นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านเกษตร รายงานสถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.67-ปัจจุบัน มีพื้นที่ประสบภัย 43 จังหวัด กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 27 จังหวัด และยังคงมีสถานการณ์อยู่ 16 จังหวัด ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการเร่งสำรวจความเสียหายภาคการเกษตร (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ก.ย. 67) ดังนี้
1. ด้านพืช มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น ข้าว, พืชไร่/พืชผัก และไม้ผล ไม้ยืนต้น รวม 948,754.64 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 153,565 ราย
2. ด้านประมง มีพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น บ่อปลา, บ่อกุ้ง รวม 9,538.98 ไร่ กระชัง 81,005 ตร.ม. เกษตรกรได้รับผลกระทบ 9,805 ราย
3. ด้านปศุสัตว์ มีจำนวนสัตว์ที่ได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น โค, กระบือ, สุกร, แพะ/แกะ สัตว์ปีก รวม 3,568,339 ตัว เกษตรกรได้รับผลกระทบ 60,578 ราย
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดหนองคาย จากสถานการณ์น้ำโขงที่เพิ่มสูงขึ้น กรมชลประทาน ได้มีมาตรการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ มีการเตรียมเครื่องมือ-เครื่องจักร เพื่อระบายน้ำ ซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำล้นตลิ่งเหลือเพียง 60 ซม. และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ส่วนมาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลดในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ได้ถอดบทเรียนจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยจะปรับปรุงวิธีการดำเนินงานและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานหลัก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และลดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด
ด้านนายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ มีความห่วงใยเกษตรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน "ยางิ" ในพื้นที่ภาคเหนือ และทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง เข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย
กระทรวงเกษตรฯ ได้ให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน มอบถุงยังชีพให้แก่ประชาชน และเกษตรกรไปแล้ว 5,205 ชุด และอาหารปรุงสุกพร้อมน้ำดื่ม 24,450 ชุด รวมทั้งมอบหมายเจ้าหน้าที่ให้เร่งสำรวจความเสียหาย และให้การช่วยเหลือเฉพาะหน้าทันที (ข้อมูล ณ 17 ก.ย. 67) ประกอบด้วย
1. สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 2,289 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 617 ในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยระดมเครื่องมือเครื่องจักร และเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือในพื้นที่
2. เตรียมเมล็ดพันธุ์พืชผัก สำหรับแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรหลังน้ำลด เช่น ผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง ให้กับเกษตรกร 48,562 ราย 49,300 ซอง และเตรียมหัวเชื้อราไตรโคเดอร์มา 7,560 ขวด และเชื้อราไตรโคเดอร์มาพร้อมใช้ 14,840 กิโลกรัม
3. การให้ความช่วยเหลือด้านปศุสัตว์ อาทิ อพยพสัตว์ จำนวน 589,984 ตัว หญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน 522,203 กิโลกรัม ส่งเสริมสุขภาพสัตว์ (แร่ธาตุ/ยาปฏิชีวนะ วิตามิน) 22,742 ซอง รักษาสัตว์ 7,275 ตัว ถุงยังชีพสัตว์ 165 ถุง พร้อมทั้งจัดตั้งสถานที่พักพิงสัตว์ชั่วคราว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ ปศุสัตว์ และสัตว์เลี้ยงของประชาชน โดยมีสัตว์แพทย์ และเจ้าหน้าที่ช่วยดูแลสุขภาพสัตว์ให้ด้วย
4. ส่งเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ รุ่น AS 350 และ BELL 407 และเครื่องบิน ชนิด CN 1 ลำ CASA 2 ลำ CN235 1 ลำ เข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย พร้อมให้การสนับสนุนการปฏิบัติการของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกองบัญชาการกองทัพไทย ในการเข้าช่วยเหลือเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย
5. จัดชุดเฉพาะกิจพร้อมเจ้าหน้าที่ รถยนต์ เรือตรวจการประมง ช่วยนำส่งเสบียงอาหาร และน้ำดื่ม ช่วยอพยพประชาชน และผู้ป่วยออกจากพื้นที่ พร้อมทั้งสนับสนุนสถานที่ราชการเป็นที่พักพิงชั่วคราว เพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนและเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากอุทกภัย โดยสามารถรองรับผู้ประสบภัยได้จำนวน 100 คน และที่จอดรถชั่วคราวจำนวน 200 คัน
6. มาตรการให้ความช่วยหลังน้ำลดด้านอื่น ๆ อาทิ มาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน การแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ให้แก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้หลังน้ำลดอย่างต่อเนื่อง