สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค.67 อยู่ที่ 87.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 89.3 ในเดือนก.ค.67 โดยมีปัจจัยด้านลบจากอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลง โดยเฉพาะสินค้าคงทนประเภทรถยนต์ สะท้อนจากยอดขายรถยนต์ในประเทศ 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) อยู่ที่ 354,421 คัน ลดลง 23.71% โดยเฉพาะรถกระบะ และรถบรรทุก เนื่องจากความเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน ขณะที่กำลังซื้อยังเปราะบางจากความกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.8% ต่อ GDP ในไตรมาส 1/2567 ซึ่งกดดันการบริโภคในประเทศ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ทั้งค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ รวมถึงต้นทุนทางการเงิน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงปัญหาการทุ่มตลาดของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ ทำให้สินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงกว่า ส่งผลให้ยอดขายสินค้าลดลง
นอกจากนี้ ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลาง ได้สร้างความเสียหายให้แก่ภาคเกษตร และอุตสาหกรรม รวมถึงส่งผลให้ภาคก่อสร้างชะลอตัวลง ในด้านการส่งออก อัตราค่าระวางเรือ (Freight) ยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางสหรัฐฯ และยุโรป จากการเร่งส่งออกของจีน และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น ขณะที่เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วจากระดับ 36.46 บาท/ดอลลาร์ ในเดือนก.ค.67 มาอยู่ที่ 34.92 บาท/ดอลลาร์ในเดือนส.ค.67 ส่งผลให้สินค้าไทยแพงขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการ 25 กลุ่มจาก 46 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการทุ่มตลาดของสินค้าด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่มีผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ 22 กลุ่มจาก 46 กลุ่ม และคาดว่าหากภายในปีนี้ยังไม่มีมาตรการที่เหมาะสมออกมาจะส่งผลให้มีผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวเพิ่มเป็น 30 จาก 46 กลุ่ม ทั้งนี้เราสามารถเลือกใช้เครื่องมือปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศที่มีอยู่หลายตัว เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและสอดคล้องกับสถานการณ์
ส่วนปัญหาเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนนั้นจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการดูแลให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ
สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงรายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยนั้น ในวันที่ 21 ก.ย.นี้ ส.อ.ท.จะนำคณะลงพื้นที่ไปให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการที่มีอยู่ราว 40 ราย โดยจะให้ความช่วยเหลือตั้งแต่การฟื้นฟู การเยียวยา และการป้องกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าเกษตร ทำให้กังวลเรื่องวัตถุดิบที่จะนำมาป้อนโรงงานอาจมีปริมาณไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ดี ในเดือนส.ค.67 ยังมีปัจจัยบวกจากสถานการณ์การเมืองที่คลี่คลายลง ทำให้นักลงทุนและผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และมีความคาดหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณ และการใช้จ่ายภาครัฐ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งภาคการท่องเที่ยว ยังเป็นแรงสนับสนุนการบริโภคในประเทศ จากมาตรการดึงดูดท่องเที่ยวของภาครัฐ
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 93.9 ปรับตัวลดลงจาก 95.2 ในเดือนก.ค.67 โดยมีปัจจัยที่ผู้ประกอบการยังกังวล ได้แก่ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น, ปัญหาหนี้เสียมีแนวโน้มสูงขึ้น, ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยังยืดเยื้อและรุนแรง ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท และในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 67 คาดว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคัก
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้
1. เร่งประกาศและสร้างความชัดเจนในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 อาทิ มาตรการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน เป็นต้น
2. ปรับลดวงเงินประกันการใช้ไฟฟ้าเพื่อเสริมสภาพคล่องในภาคอุตสาหกรรม และชะลอการเรียกเก็บเงินประกันการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม กรณีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในรอบปีสูงขึ้น รวมทั้งทบทวนลดเพดานวงเงินการประกันการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสม
3. ปรับปรุง พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) มาตรการดอบโต้การอุดหนุน (CVD) มาดรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (SG) และมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดระยะเวลาการพิจารณาไต่สวน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสินค้าทุ่มตลาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว
4. ออกมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย อาทิ ยกเว้นภาษีนินิบุคคล ขยายเวลาการยื่นภาษี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร รวมทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว
5. ขอให้ภาครัฐยึดมติคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัดในการพิจารณาอัตรค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและปัจจัยที่ส่งผลกระทบในปัจจุบัน
นายเกรียงไกร กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทในวันที่ 1 ต.ค.นั้นเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างชาติมีความกังวล และทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น ซึ่ง ส.อ.ท.เห็นด้วยที่จะให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามทักษะของแรงงาน (Pay by Skill) โดยผ่านขั้นตอนความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการค่าจ้างของแต่ละจังหวัด เพราะไม่เช่นนั้นจะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการลดลง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานอย่างเข้มข้นอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี
"เป็นเรื่องสำคัญ ภาครัฐไม่ควรเรียกประชุมแบบปุ๊บปั๊บ เพราะทุกคนมีภารกิจที่ได้นัดหมายล่วงหน้ากันไว้แล้ว" นายเกียงไกร กล่าวถึงกรณีที่ตัวแทนฝ่ายนายจ้างไม่ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการไตรภาคีเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา
ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะนี้ทุกฝ่ายควรช่วยกันแก้ไขปัญหาเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นเชื่อว่าไม่มีกล้าใครขัด แต่ขณะนี้ยังไม่มีความเหมาะสม และภาคเอกชนสนับสนุนให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมออกมาอย่างต่อเนื่อง