คลัง คาดหนี้สาธารณะปี 68 แตะ 66% มองแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 18, 2024 15:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คลัง คาดหนี้สาธารณะปี 68 แตะ 66% มองแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงแผนบริหารหนี้สาธารณะว่า กระทรวงการคลัง ได้จัดทำแผนบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง (4 ปี) ตั้งแต่ปี 2567-2570 โดยคำนวณสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GFP ออกมาแล้ว ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง โดยในปีงบประมาณ 2568 จะมีหนี้ที่เกิดจากการกู้ใหม่ราว 1.05 ล้านล้านบาท ส่วนนี้เป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 8.65 แสนล้านบาท และเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 2.79 แสนล้านบาท ขณะที่เป็นการ roll over วงเงิน 1.52 ล้านล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ 1.24 ล้านล้านบาท การออกตั๋วเงินคลัง จำนวน 5.2 แสนล้านบาท การออกพันธบัตรรัฐบาล 3.27 แสนล้านบาท การออกพันธบัตรออมทรัพย์ 1.24 แสนล้านบาท และการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน จำนวน 2.77 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ มีการประเมินว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2568 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะอยู่ที่ราว 66% ภายใต้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ระดับ 3% จากปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 63% ต่อ GDP และ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 คาดว่าหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 65% ต่อ GDP และประเมินว่าตัวเลขหนี้สาธารณะ ตามแผนบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง ในปีงบประมาณ 2569 จะเริ่มนิ่งขึ้น จากนั้นในปีงบประมาณ 2570 สัดส่วนหนี้สาธารณะจะเริ่มปรับตัวลดลง

* มองแนวโน้มดอกเบี้ยเริ่มเป็นขาลง

รองนายกฯ และรมว.คลัง มองว่าความเสี่ยงในการบริหารหนี้สาธารณะ มีเพียงไม่กี่ปัจจัย เช่น ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการกู้เงินต่างประเทศน้อยมาก จึงบริหารจัดการในส่วนนี้ได้ไม่ยาก, ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย ก็ได้มีการหารือว่าจะมีการกำหนดสัดส่วนการจ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว และอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่อย่างไร

"หากมองแนวโน้มดอกเบี้ยหลังจากนี้ น่าจะเข้าสู่ช่วงขาลง โดยประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก็น่าจะลดลง ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยของไทย ก็เชื่อว่าน่าจะปรับลลดลงด้วยเช่นกัน แต่เรื่องนี้ ธปท. มีความเป็นอิสระในการพิจารณา คงถามผมไม่ได้ แต่ถ้าให้มอง ผมมองว่าหากประเทศมหาอำนาจปรับลดอัตราดอกเบี้ย ปกติประเทศไทยเป็นประเทศที่เรื่องเงินทองผูกติดกับสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก ทุกครั้งที่เขามีการขึ้นหรือลดดอกเบี้ยก็จะมีผลกระทบกับเรา เงินไหลเข้าออกพอสมควร ขณะที่หลายปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจตอนนี้เริ่มฟื้น มีการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เชื่อว่า ธปท. น่าจะพิจารณาในหลาย ๆ เรื่อง คงดูเรื่องเงินเฟ้อว่าจะขยายตัวขึ้นหรือไม่ ปีนี้เคยคิดที่ 2.4% จะขึ้นไปมากกว่านี้หรือไม่ ดังนั้นคงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ ธปท. ในการพิจารณา" นายพิชัย กล่าว
* หวังบริษัทเรตติ้งเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือให้ไทย

พร้อมมองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทยหลายอย่างเริ่มดีขึ้น ก็เชื่อว่าการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย น่าจะได้ขยับเครดิตขึ้นเป็นระดับ A- จากปัจจุบันที่ BBB+ ซึ่งขณะนี้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือกำลังทยอยเข้ามาเก็บข้อมูล ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เขาอยากเห็น คือ ก้าวต่อไปของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

"ส่วนตัว มองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันนิ่งขึ้น และดีขึ้น ไม่ต่างอะไรกับประเทศที่ได้เครดิต A- ส่วนปัญหาเรื่องการเมืองทุกประเทศมีเหมือนกันหมด เพียงแต่ว่าที่ประเทศไทย การเมืองเสียงดังไปหน่อยเท่านั้นเอง" นายพิชัย กล่าว

สำหรับความคืบหน้าการแก้ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนของไทยนั้น นายพิชัย ระบุว่า รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการ ขอให้ทุกฝ่ายใจเย็น ๆ เพราะเป็นมูลหนี้ขนาดใหญ่ จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ และต้องดูวิธีการเพื่อที่จะไม่ทำให้ประชาชนเสียวินัยทางการเงินด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ