นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการเดินทางไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ทำให้ได้รับทราบแผนงาน รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานหลายเรื่อง ซึ่งได้ย้ำถึงพันธกิจของกระทรวงฯ ที่ กนอ.ต้องเข้ามาร่วมขับเคลื่อนนโยบาย โดยเฉพาะการปฏิรูปอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการยกระดับอุตสาหกรรมเดิม ไปถึงการดึงดูดการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ที่เป็นเป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรืออุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ที่ผู้ประกอบการในไทยหลายรายมีศักยภาพสูง นอกจากนี้ ยังต้องยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ในการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และรักษาสิ่งแวดล้อม
ส่วนการจัดการกากอุตสาหกรรม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน ที่ผ่านมาถือว่า กนอ.ทำได้ดีอยู่แล้ว แต่อาจจะต้องวางแนวทางประสานข้อมูลกับกระทรวงฯ และต่อยอดองค์ความรู้ของ กนอ.ไปสู่ผู้ประกอบการนอกนิคมฯ เพื่อให้เกิดโรงงานสีเขียวทั่วประเทศ
"ขณะนี้กระทรวงฯ กำลังจัดฐานข้อมูลของหน่วยงานภายในให้เป็นหนึ่งเดียว ตามแนวนโยบายรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) จึงอยากให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง กนอ. และกระทรวงฯ ทั้งในเรื่องการจัดการกากอุตสาหกรรม, ขออนุมัติ-อนุญาต และการรายงานผลประกอบการผ่านแพลทฟอร์มเดียวกัน (Single Form) เพื่อให้ฐานข้อมูลที่ทุกหน่วยงานสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว
นอกจากนี้ ยังฝากให้ กนอ.เข้าไปช่วยเหลือส่งเสริม SMEs ไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย โดยอาจจะจัดพื้นที่และสนับสนุนเทคโนโลยีที่มีอยู่ภายในนิคมฯ ให้แก่ธุรกิจ SMEs ทั้งในแง่ของการลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ การเข้าถึงแหล่งทุน และการสร้าง Supply Chain หรือห่วงโซ่อุปทานให้เกิดขึ้น ระหว่างผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมนั้น ๆ
"หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เรามีเป้าหมายเดียวกัน และเชื่อมั่นว่าการทำงานของเราจะสำเร็จตามเป้าหมาย เพราะเรามองเห็นภาพเดียวกัน จับมือและเดินไปด้วยกัน การทำงานร่วมกันเป็นทีม และแสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อเป้าหมายเดียวกันในการปฏิรูปอุตสาหกรรม" นายเอกนัฏ กล่าว
นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ. รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ.มีนโยบายยกระดับนิคมอุตสาหกรรม สู่มาตรฐานสากลด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน มุ่งพัฒนานิคมอุตสาหกรรมครบวงจรอย่างยั่งยืน ยกระดับความได้เปรียบในการแข่งขันแก่นักลงทุน และเพิ่มคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย สังคม และสิ่งแวดล้อมบนหลักธรรมาภิบาล
พร้อมรายงานความคืบหน้าของโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1, นิคมอุตสาหกรรม Smart Park, การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือนิคมฯ Circular, นิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับโครงการแลนด์บริดจ์ในพื้นที่ จ.ระนอง และ ชุมพร, นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล และแนวคิดโครงการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีแผนงานตามนโยบายการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส 3 ปฏิรูป 3 แนวทางของ รมว.อุตสาหกรรม โดยวางแนวทางเพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าวไว้ 3 เรื่องสำคัญ
1.การจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะ SMEs (I-EA-T Incubation) เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SMEs โดยการใช้นิคมฯ เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ SMEs เบื้องต้นจะเริ่มดำเนินการ และพร้อมเปิดนิคมฯ ที่นิคมฯลาดกระบัง ภายใน 3 เดือน และการผลักดันแก้ไขปัญหาผังเมืองในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจหรือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะดำเนินการภายใน 3 เดือนเช่นกัน
2.การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมครบวงจร ผ่านความร่วมมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ในการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อลดขั้นตอนและเวลา เรื่องนี้จะสามารถดำเนินการได้เต็มรูปแบบภายใน 6 เดือน
3.การสร้าง Eco System หรือระบบนิเวศทางธุรกิจใหม่ โดยใช้แพลตฟอร์ม (Platform) ต่าง ๆ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ ให้ง่ายต่อการประกอบกิจการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ภายใน 1 ปี
"กนอ.ขอรับการสนับสนุนจาก รมว.อุตสาหกรรม ในด้านต่างๆ เช่น การผลักดันกฎหมายผังเมือง EEC, การบูรณาการแก้ไขการจัดการกากอุตสาหกรรมครบวงจร, Fast Track Lane (ช่องทางพิเศษเพื่ออำนายความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง, กรมที่ดิน และ BOI (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) เพื่อให้โครงการตามนโยบายของ รมว.อุตสาหกรรม สำเร็จลุล่วง และที่ต้องการใช้กลไกของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ" นายสุเมธ กล่าว