นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่า ได้ปรับปรุงประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข การอนุญาตให้เรือสำราญและกีฬาขนาดใหญ่ (Super Yacht) ของบุคคลผู้ไม่ต้องด้วยลักษณะที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทย ทำการค้าในน่านน้ำไทย ตามมาตรา 47 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายกระทรวงคมนาคมที่ส่งเสริมการประกอบธุรกิจเรือสำราญและกีฬาขนาดใหญ่ (Super Yacht) สร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว ทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของการท่องเที่ยวระดับโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวทุกระดับและเพิ่มสัดส่วนของนักท่องเที่ยว ที่มีคุณภาพสูง สร้างรายได้จาก การท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับจังหวัดภูเก็ต มียุทธศาสตร์ที่มีจุดเด่นเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก (World Maritime Destination Hub)
ที่ผ่านมา มีการบังคับใช้มาเป็นระยะเวลาพอสมควร ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2558 จนถึงปัจจุบัน (กันยายน 2567) รวมระยะเวลา 9 ปี ดังนั้น จึงมีนโยบายให้ดำเนินการปรับปรุงประกาศกระทรวงคมนาคมเรื่องดังกล่าวใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเล โดยปัจจุบันเรือสำราญและกีฬาขนาดใหญ่ (Super Yacht) ยังมีเรือไทยไม่เพียงพอกับความต้องการอีกด้วย
นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า สำหรับการปรับปรุงประกาศเรื่องดังกล่าว ได้ปรับขนาด ของเรือสำราญและกีฬาขนาดใหญ่ (Super Yacht) จากเดิมที่เป็นเรือต้องมีความยาวตั้งแต่ 30 เมตรขึ้นไปบรรทุกคนโดยสารได้ไม่เกิน 12 คน ให้เป็นเรือที่มีขนาดตั้งแต่ 24 เมตรขึ้นไป บรรทุกคนโดยสารได้ไม่เกิน 12 คน ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล กำหนดกรมธรรม์ประกันภัย ให้เหมาะสมครอบคลุมตามมาตรฐานและหลักการประกันภัยทางทะเล ที่มีวงเงินคุ้มครองความเสียหายไม่ต่ำกว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อครั้ง หรือราว 171 ล้านบาทต่อครั้ง ทั้งนี้ การยื่นขออนุญาตสามารถดำเนินการได้โดยผ่านระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์และสามารถใช้เอกสารประกอบคำขอได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งกำหนดกรอบระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตให้เสร็จภายใน 25 วันทำการ
อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้เรือสำราญและกีฬาขนาดใหญ่ (Super Yacht) เข้ามาทำการค้าในน่านน้ำไทยได้ จะเพิ่มขีดความสามารถในการท่องเที่ยว สนับสนุนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำและเรือสำราญในภูมิภาคเอเชีย (Marina Hub Of Asia) ตามนโยบายรัฐบาล กระตุ้นการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศ โดยการแวะท่องเที่ยว เช่าท่าที่จอดเรือ จ้างซ่อมบำรุงรักษาเรือ ใช้บริการโรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายเสบียงอาหาร เป็นต้น รวมถึงสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ ได้แก่ การจ้างกัปตันและลูกเรือเพื่อดูแลเรือ การจ้างช่างซ่อมเรือ อีกทั้งช่วยพัฒนาความรู้ด้านวิชาชีพเกี่ยวกับการซ่อมเรือและการเป็นกัปตันเรือ ส่งเสริมให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการใช้จ่ายในประเทศ ตลอดจนเกิดการท่องเที่ยวของกลุ่มนักท่องเที่ยวเศรษฐีต่างชาติ โดยเรือซุปเปอร์ยอร์ชที่ต้องการมาเที่ยวในเขตภูมิภาคเอเชรย ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินจากการใช้จ่ายที่สูงมากของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อีกด้วย