นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานสถานการณ์เพลิงไหม้ของ บริษัท ไทยพลาสติกเคมีภัณฑ์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ถนนไอ-หนึ่ง ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง เมื่อเวลาประมาณ 12.10 น. ของวันที่ 22 กันยายน 2567 โดยเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต ซึ่งเบื้องต้นพบว่าเป็นการรั่วไหลของสารตั้งต้นในกระบวนการผลิตพีวีซี เมื่อเกิดเหตุบริษัทฯ ได้ตัดแยกระบบเพื่อควบคุมการรั่วไหลทันที และบริษัทฯ สามารถควบคุมเพลิงไว้ในวงจำกัด เวลา 14.05 น. โดยเหลือเพียงกลุ่มควันเท่านั้น เบื้องต้นไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
พร้อมกันนี้ กนอ. ได้ส่งทีมตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ชุมชนพบว่าผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณสถานีหนองเสือเกือก และสถานีอนามัยตากวน อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ขณะที่ทางบริษัทฯ ได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการระงับเหตุ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่บริษัทฯ ลงพื้นที่ชุมชนเพื่อประสานงานและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในพื้นที่
"กรณีเหตุเพลิงไหม้ที่นิคมมาบตาพุด ผมติดตามสถานการณ์และรับรายงานจากการนิคมฯ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับแจ้งว่า สามารถควบคุมเพลิงไหม้ได้แล้ว ขณะเกิดเหตุได้มีการอพยพคนออกจากพื้นที่ ไม่พบว่ามีใครได้รับบาดเจ็บ เบื้องต้นได้รับรายงานว่าเหตุเกิดในกระบวนการผลิต ไม่ได้ลุกลามเข้าไปบริเวณแทงค์เก็บสารเคมี ทางบริษัทฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อเร่งดูแลชุมชนใกล้เคียง แจกจ่ายหน้ากากเพื่อป้องกันควัน จากการตรวจวัดสภาพอากาศในเบื้องต้น คุณภาพอากาศยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ยังไม่พบการรั่วไหลของสารเคมีที่เป็นอันตราย" นายสุเมธ กล่าว
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เพลิงไหม้ของ บริษัท ไทยพลาสติกเคมีภัณฑ์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ถนนไอ-หนึ่ง ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง เมื่อเวลาประมาณ 12.10 น. ของวันนี้ (22 กันยายน 2567) ณ ขณะนี้นิคมมาบตาพุดควบคุมเพลิงไหม้ได้แล้ว และตนได้สั่งการให้การนิคมฯ คุมเข้มเรื่องสารเคมี และสารพิษรั่วไหล โดยขณะเกิดเหตุได้อพยพคนออกจากพื้นที่ และไม่พบว่ามีใครได้รับบาดเจ็บ เบื้องต้นพบว่าเหตุเกิดในกระบวนการผลิต สามารถตัดแยกสารเคมีที่รั่วไหลได้ ยังไม่ลุกลามเข้าไปบริเวณแท้งค์เก็บสารเคมี
ล่าสุดเวลา 15:45 น. ตรวจวัดคุณภาพอากาศ พบว่ากลับมาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ของการนิคมฯ ร่วมกับบริษัทฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์ เพื่อดูแลเยียวยาประชาชนในชุมชนใกล้เคียงอย่างใกล้ชิด