นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 7,125.63 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ (มาตรการ EV3) ต่อไป ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
สำหรับมาตรการ EV3 จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความต้องการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยการสนับสนุนให้ราคาของรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามีราคาลดลง ใกล้เคียงกับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน และช่วยสร้างแรงจูงใจให้มีการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และช่วยลดให้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ด้วยการลดใช้พลังงานเชื้อเพลิงประเภทฟอสซิลที่ก่อให้เกิดมลภาวะ
ทั้งนี้ กรมสรรพสามิต ได้มีประกาศ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับสิทธิมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. กรณีรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท Battery Electric Vehicle (BEV) ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท จะได้รับ
- เงินอุดหนุน 70,000 บาท สำหรับรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง
- เงินอุดหนุน 150,000 บาท สำหรับรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป
2. กรณีรถยนต์กระบะ ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท จะได้รับเงินอุดหนุน 150,000 บาท/คัน เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศและมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป (เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น)
3. กรณีรถจักรยานยนต์ ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับเงินอุดหนุน 18,000 บาท/คัน สำหรับรถจักรยานยนต์ประเภท BEV