รายงานฉบับล่าสุดของ IMS Health ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านเภสัชกรรมระบุว่า ธุรกิจยารักษาโรคมะเร็งในตลาดโลกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เนื่องจากบริษัทเภสัชกรรมในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต่างใช้เงินในการดูแลรักษาสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
จีน บราซิล รัสเซีย และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายแห่งกำลังก้าวขึ้นเป็นผู้บริโภครายใหญ่สำหรับธุรกิจเภสัชกรรม เนื่องจากประเทศเหล่านี้ทุ่มเงินลงทุนในการรักษาโรคมะเร็งมากขึ้น
IMS Health คาดว่าการใช้จ่ายด้านเภสัชกรรมในประเทศต่างๆ อาทิ อินเดีย เม็กซิโก และตุรกีจะขยายตัวขึ้น 12-13% ในอีก 15 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวในระดับตัวเลขหนึ่งหลักของประเทศที่พัฒนาแล้ว
รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า ตัวเลขค่าใช้จ่ายสำหรับยารักษาโรคมะเร็งอาจขยายตัวขึ้น 12-15% ต่อปี ในช่วงปี 2555 แตะที่ 7.5-8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ธุรกิจยาในภาพรวมอาจขยายตัวขึ้น 6.4%
"บริษัทยาหลายแห่งใช้เงินในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆสำหรับการรักษาเนื้องอกมากที่สุด" ทิตัส แพทเทล รองประธานของ IMS กล่าว
ทั้งนี้ ยอดขายยารักษาโรคมะเร็งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแตะที่ 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ โดยเฉพาะยา Herceptin สำหรับรักษาโรคมะเร็งเต้านมของบริษัทเจเนเทค และยา Gleevec สำหรับรักษาโรคลูคีเมียของโนวาร์ติส
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเวชภัณฑ์ยังไม่มีเกราะป้องกันภาวะชะลอตัว เนื่องจากสิทธิบัตรยารักษามะเร็งตัวเก่าๆที่หมดอายุประกอบกับความพยายามในการควบคุมการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขอาจเป็นตัวฉุดรั้งอัตราการขยายตัวของธุรกิจดังกล่าวในอนาคต
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย อรษา สงค์พูล/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--