ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคนี้สมัยนี้ทุกคนในประเทศไทยต้องเคยได้ยินคำว่า "Soft Power" เนื่องจากเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลมาตั้งแต่ยุคของรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จนถึงรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร แต่อย่างไรก็ตามนิยาม หรือ ความหมายของ "Soft Power" นั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลจะเข้าใจหรือให้คำนิยาม ซึ่งในส่วนของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัลแบบกลุ่ม (Shelf Filing) เพื่อรองรับการระดมทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ หรือ "Soft Power" นั่นเอง โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2567 เป็นต้นไป
โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าว ก.ล.ต. ประสงค์จะเพิ่มทางเลือกให้ผู้ระดมทุนจากผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่าย "Soft Power" ให้มีความเหมาะสมยึดหยุ่นกว่ากฎเกณฑ์การออก ICO เพื่อระดมทุนรูปแบบดั้งเดิม กล่าวคือ กำหนดให้มีการขออนุญาตเสนอขาย ICO แบบกลุ่ม หรือที่เรียกว่า Shelf Filing ซึ่งจะต้องมีทรัพย์สินอ้างอิง หรือทรัพย์สินที่ลงทุนในลักษณะเดียวกัน หรือโครงการในทำนองเดียวกัน เช่น กลุ่มดนตรี กลุ่มละคร หรือกลุ่มซีรีย์ โดยผู้เสนอขาย ICO สามารถเสนอขายโทเคนดิจิทัลได้โดยไม่จำกัดมูลค่าและจำนวนครั้งที่เสนอขายภายในระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้แล้ว ก.ล.ต. ยังยกเว้นการกำหนดสัดส่วนและมูลค่าการเสนอขายโทเคนดิจิทัลรวมต่อผู้ลงทุนรายย่อยสำหรับการลงทุนใน ICO ที่เป็น "Soft Power" อีกด้วย ซึ่งโดยปรกตินักลงทุนรายย่อยจะถูกจำกัดมูลค่าการระดมทุนในการลงทุน ICO
การดำเนินการพัฒนาแก้ไขกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวนับเป็นนโยบายสนับสนุนผลักดันอุตสาหกรรม "Soft Power" หรือ เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของประเทศให้เติบโตก้าวหน้าโดยใช้ตลาดทุนเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญ
แต่อย่างไรก็ตาม นับแต่มีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลการระดุมทุนด้วยโทเคนดิจิทัลหรือ ICO ในประเทศไทยนั้นก็แทบจะไม่มีโครงการที่ระดมทุนแบบ ICO ออกมาเลย จึงนับเป็นความท้าทายต่อ ก.ล.ต. รวมถึงรัฐบาลว่าการแก้ไขกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนนโยบาย "Soft Power" โดยใช้ ICO จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)