สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนส.ค.67 พบว่า การส่งออก มีมูลค่า 26,182 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน จากที่ตลาดคาดโต 6% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 25,917 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 8.9% ส่งผลให้ในเดือนส.ค.นี้ ไทยเกินดุลการค้า 264.9 ล้านดอลลาร์
ขณะที่ช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.67) การส่งออกของไทย มีมูลค่ารวม 197,192 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 203,543 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5% ส่งผลให้ 8 เดือนแรกปีนี้ ไทยยังคงขาดดุลการค้า 6,351 ล้านดอลลาร์
ส่วนสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าในระยะหลังนั้น ยังไม่มีผลให้ สนค.ปรับเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้ โดยยังคงเป้าหมายเดิมที่ 1-2% ที่มูลค่าราว 290,700 ล้านดอลลาร์ และมองว่ามีโอกาสจะขยายตัวได้มากกว่า 2% เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าฟื้นตัว ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าหลักเพิ่มขึ้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ในเดือนส.ค.นี้ หากพิจารณาการส่งออกเป็นรายกลุ่มสินค้า จะพบว่ามีการขยายตัวในทุกกลุ่มสินค้า ดังนี้
กลุ่มสินค้าเกษตร มีมูลค่า 2,608 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 17.5% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ยางพารา, ข้าว และผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง
กลุ่มสินค้าอุตสาหรรมเกษตร มีมูลค่า 2,130 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 17.1% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์, อาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารทะเลกระป๋อง และแปรรูป
กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 20,357 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.2% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ, เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เคมีภัณฑ์, เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
โดยตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวได้ดี 10 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 175.1% อันดับ 2 ตะวันออกกลาง ขยายตัว 34.6% อันดับ 3 สหภาพยุโรป ขยายตัว 26.4% อันดับ 4 เอเชียใต้ ขยายตัว 22.8% อันดับ 5 แอฟริกา ขยายตัว 20.3% อันดับ 6 ลาตินอเมริกา ขยายตัว 19.1% อันดับ 7 CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ขยายตัว 13.7% อันดับ 8 รัสเซีย และกลุ่ม CIS ขยายตัว 9.3% อันดับ 9 จีน ขยายตัว 6.7% และอันดับ 10 อาเซียน (5) ขยายตัว 4.5%
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกในเดือนส.ค.นี้ ได้แก่ การขยายตัวของการส่งออกสินค้าเกษตร และอาหาร ผลักดันให้การส่งออกในภาพรวมเติบโตได้ดี, ผู้บริโภคในประเทศคู่ค้าหลักจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ นอกจากนี้ ค่าระวางเรือของบางเส้นทางในช่วงครึ่งหลังของเดือนส.ค. เริ่มลดลง
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสำคัญที่กดดันการส่งออก คือ การแข็งค่าของเงินบาท และสภาพอากาศที่มีปริมาณฝนตกหนัก ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรบางชนิดให้เสียหาย
สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2567 จะเติบโตต่อเนื่อง โดยปัจจัยบวกที่สำคัญมาจากสัญญาณการคลี่คลายของภาวะเงินเฟ้อระดับสูงในหลายประเทศ และแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นการบริโภคในตลาดโลก ขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบายรักษาความมั่นคงทางอาหารของประเทศคู่ค้า และสภาพภูมิอากาศที่ผันผวนทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตในหลายประเทศ นอกจากนี้ แนวโน้มการชะลอตัวของอัตราค่าระวางเรือขนส่งสินค้า จะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ส่งออกไทย
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่อาจกระทบต่อการส่งออกไทยในระยะถัดไป อาทิ ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง ค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัญหาอุทกภัยในประเทศ ที่อาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร
"กระทรวงพาณิชย์ จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกไทย เพื่อให้มั่นใจว่า การส่งออกจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยต่อไป" นายพูนพงษ์ กล่าว
ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ระบุว่า จากการที่เงินบาทแข็งค่าในระยะนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบกับคำสั่งซื้อในช่วงปลายปี คือ เดือนพ.ย. ธ.ค.67 และต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกของปี 68 โดยมองว่าการแข็งค่าของเงินบาท ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังสูงมาก ต่อการส่งออกในระยะหลังจากนี้ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตร
"ผู้ประกอบการ อาจจะระมัดระวังในการเจรจาส่งมอบสินค้าตามคำสั่งซื้อใหม่ ทำให้ไม่กล้ารับ order ในช่วงเดือน พ.ย. ธ.ค. ซึ่งจะมีผลต่อยอดการส่งออกในช่วงปลายนี้ ไปจนถึงไตรมาสแรกของปีหน้า" ประธาน สรท. กล่าว
ทั้งนี้ เงินบาทที่แข็งค่า มีผลต่อสภาพคล่องของผู้ส่งออก และสัดส่วนการทำกำไรที่จะต่ำกว่าคาด ซึ่งจะมีผลกระทบกับสินค้าที่ส่งออกไปแล้วจากคำสั่งซื้อในเดือนส.ค. ที่จะถูกแปลงจากเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาเป็นเงินบาทในช่วงการชำระเงินในเดือนถัดไป
"เมื่อแปลงดอลลาร์เป็นบาทแล้ว ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะกว่าเราจะได้รับชำระเงินจริง ๆ ก็เป็นช่วงก.ย. ต.ค. เงินบาทที่แข็งค่า มีผลกับสภาพคล่อง และการทำกำไรของผู้ส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ต้องดูเรื่องสภาพคล่องให้ดี เพราะ order ที่ส่งไปแล้ว จะเริ่มมีผลในช่วงนี้ เมื่อแปลงดอลลาร์เป็นเงินบาทแล้ว กำไรจะลดลง ธุรกิจรายเล็กจะขาดทุนมาก" นายชัยชาญ กล่าว
อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนยังมั่นใจว่าการส่งออกในปีนี้ จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 1% แน่นอน ซึ่งหากไม่มีปัจจัยภายนอกเข้ามารุมเร้ามากนัก ก็เชื่อว่ามีโอกาสจะขยายตัวได้ 2% ตามเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์
ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วันนั้น ประธาน สรท. ขอให้รัฐบาลพิจารณาเลื่อนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำออกไปก่อน เนื่องจากขณะนี้ผู้ส่งออกแบกภาระต้นทุนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทางการเงินในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย ต้นทุนค่าขนส่ง ต้นทุนการผลิต อีกทั้งปัญหาเงินบาทแข็งค่า ซึ่งหากถูกซ้ำเติมด้วยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก ผู้ส่งออกจะได้รับผลกระทบหนักและขาดทุนในที่สุด
"ผู้ผลิต ผู้ส่งออก อยากเห็นการเลื่อนขึ้นค่าแรงออกไปก่อน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ เพราะตอนนี้ เราแบกรับภาระกันสูงมากแล้ว หากมาขึ้นค่าแรง ในสถานการณ์ที่ค่าเงินบาทเป็นเช่นนี้ ผู้ส่งออกสินค้าเกษตร และ SME จะกระทบหนัก และอาจขาดทุนได้ หากเลื่อนการขึ้นค่าแรงได้ ก็อยากให้เลื่อนออกไปก่อน" นายชัยชาญ กล่าว