นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง กรณีที่มีการแชร์ข้อมูลกันในโซเชียลมีเดียว่าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้หักหนี้บางส่วนจากลูกค้าที่ได้รับโอนเงิน 10,000 บาท จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 โดยยืนยันว่า ไม่มีนโยบายให้ธนาคารของรัฐไปดำเนินการในลักษณะดังกล่าว เพราะรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่ต้องการให้เม็ดเงินดังกล่าวลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจ และกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างเต็มประสิทธิภาพ
โดยเรื่องนี้ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้สื่อสารกับทีมงานอย่างชัดเจนแล้วว่าไม่ให้ดำเนินการในลักษณะนี้ และในทางปฏิบัติก็ไม่สามารถทำได้
"เรากำลังตรวจสอบกรณีที่มีการแชร์ผ่านทางโซเชียลมีเดีย แต่ยืนยันได้ว่าไม่มีเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นแน่นอน และไม่ได้เป็นปัญหาเรื่องระบบการโอนเงิน และการหักหนี้เก่าอย่างแน่นอน ธนาคารได้ทำการโอนเงินเต็มจำนวน 10,000 บาทให้กับผู้ได้รับสิทธิ์ ดังนั้นจึงไม่มีการหักหนี้เก่าก่อนแน่นอน" รมช.คลัง กล่าว
นายจุลพันธ์ ระบุว่า การจ่ายเงิน 10,000 บาทให้แก่กลุ่มเปราะบางนี้ จะช่วยทำให้ระบบเศรษฐกิจคึกคักมากขึ้น การค้าขายต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้น และเงินที่ลงไปนี้ จะช่วยหมุนในระบบเศรษฐกิจได้อีกหลายรอบ ทำให้เกิดการผลิต การจ้างงานตามมาอีกเป็นระลอก ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นข้อดีจากมาตรการแจกเป็นเงินสด เพราะเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้รวดเร็ว และมีส่วนช่วยการเติบโต GDP ในปีนี้ให้เพิ่มขึ้นอีกราว 0.35% เป็นอย่างน้อย
"0.35% เป็นผลที่คาดว่าจะเกิดกับเศรษฐกิจเป็นอย่างน้อย ตัวเลขไม่ได้จบเท่านี้ เป็นเพียงตัวที่จะโชว์ในปีนี้ แต่จะมีแรงส่งสะท้อนไปถึงเศรษฐกิจในระยะถัดไป ยิ่งหากรัฐบาลสามารถบริหารจัดการเงินส่วนที่เหลือได้เร็ว มีการเติมเงินเข้าไปอีกระลอก ก็จะเกิดแรงหนุนเสริมซึ่งกันและกัน" รมช.คลัง กล่าว
สำหรับข้อกังวลว่าจะมีการนำเงิน 10,000 บาท ไปใช้นอกระบบเศรษฐกิจ หรือจ่ายหนี้นอกระบบนั้น ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ แต่แนวโน้มค่อนข้างต่ำ เพราะกลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนแอจริง ๆ ซึ่งเชื่อมั่นเมื่อประชาชนกลุ่มนี้ได้รับเงิน ก็จะนำไปใช้ในการอุปโภคบริโภค และใช้ในการลงทุน ซึ่งก็จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวเองมากขึ้น
นายจุลพันธ์ กล่าวถึงการดำเนินโครงการในเฟสที่ 2 โดยยืนยันว่า ประชาชนจะได้รับเงินอย่างแน่นอน แต่เป็นในรูปแบบดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นจากที่ประชาชนมาลงทะเบียนไว้ 36 ล้านคน เมื่อตรวจสอบรายชื่อที่ซ้ำซ้อน และคุณสมบัติตามเงื่อนไขโครงการแล้ว คาดว่าจะเหลือผู้ที่ได้รับสิทธิ์จริงราว 26 ล้านคน ส่วนรูปแบบการจ่ายเงินนั้น ขอไปพิจารณาความเหมาะสมก่อน ว่าจะจ่ายก้อนเดียว 10,000 บาท หรือแบ่งจ่าย 2 ก้อน คือ ครั้งละ 5,000 บาท เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจมีหลายมิติ รัฐบาลไม่ได้ดูเพียงการเติมเงินผ่านระบบ หรือการทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องการกระตุ้นและลงทุนด้านเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ ด้วย
"ต้องมาพิจารณาตัวเลขผู้ได้รับสิทธิ์อีกที หากตัวเลขต่างกันไม่มาก รัฐบาลก็มีความสามารถในการบริหารจัดการงบประมาณได้ในครั้งเดียว แต่ถ้าตัวเลขเยอะ และเราต้องมานั่งแบก มาเร่งเครื่องทางการคลังมากเกินไป ก็คงไม่ทำ เพราะว่าเราก็ต้องใช้งบประมาณในการทำภารกิจอื่นด้วย ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่จะปรับการแจกเงินเป็นเฟส ๆ" รมช.คลัง ระบุ
ทั้งนี้ หากประเมินภาพรวมทั้งโครงการ คาดว่าจะใช้เม็ดเงิน ราว 4.5 แสนล้านบาท แม้จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวแตะระดับศักยภาพที่ 2% ได้ไม่ยาก แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับศักยภาพที่รัฐบาลมองไว้ที่ 5% นั่นหมายถึงในระยะต่อไป สิ่งที่รัฐบาลจะเดินหน้า นอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ ต้องขยายเพดานระดับศักยภาพเศรษฐกิจของไทยด้วย ผ่านกลไกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการ upskill reskill แรงงาน และการปรับโครงสร้างทางอุตสาหกรรม เป็นต้น