ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยจะสามารถขยายตัวได้ที่ 2.6% ในปี 67 (ณ เดือน ก.ย. ตัวเลขระบบดุลการชำระเงิน) อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกที่ผ่านมาในเดือน ก.ค. และ ส.ค. ขยายตัวดีต่อเนื่องและสูงกว่าที่ SCB EIC คาดการณ์ไว้และสูงกว่ามุมมองตลาดมาก
นอกจากนี้ การส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ในระยะถัดไปจากเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวได้ในภาพรวม แม้จะชะลอตัวลงบ้างในหลายประเทศ รวมถึงวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น และแรงกดดันด้านค่าระวางเรือที่เริ่มลดลง ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในปี 67 อาจขยายตัวได้มากกว่าประมาณการเดิมที่ 2.6% แต่ต้องจับตาผลกระทบเพิ่มเติมจากปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของไทย การแข็งค่าของเงินบาท และการยกเลิกมาตรการควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดีย
อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทยที่ 2.6% และ 2.8% ในปี 67 และ 68 ยังถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงปี 53-62 ที่ 5.3% สะท้อนถึงความท้าทายอย่างต่อเนื่องในการฟื้นฟูแรงขับเคลื่อนของการส่งออกของไทยจากความสามารถในการแข่งขันของไทยที่น้อยลง และปัญหาเชิงโครงสร้างที่ค่อนข้างล้าหลัง
โดยเมื่อพิจารณารายละเอียดในรายผลิตภัณฑ์ส่งออกหลักของไทย 13 รายการ ซึ่งคิดเป็น 76% ของการส่งออกรวม พบว่า มีเพียง 2 รายการเท่านั้น คือ 1. อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกล และ 2. ผลไม้ ที่เติบโตได้สูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของโลกในช่วงปี 62-66 ขณะที่อีก 11 รายการที่เหลือโตช้ากว่าค่าเฉลี่ยของโลก
ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาภายนอกประเทศ ที่จะกดดันการส่งออกไทย อาทิ
1. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ จากสงครามที่ยังคงยืดเยื้อ การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น หรือมาตรการกีดกันการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น
2. ปัญหา China overcapacity ที่อาจซ้ำเติมปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขันของไทย ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีนลดลง
3. ค่าระวางเรือ (ค่าขนส่ง) ที่อาจจะกลับมาสูงขึ้นได้ จากสงครามที่เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงขึ้น รวมถึงปัญหาการขาดแคลนเรือขนส่งและตู้คอนเทนเนอร์
4. ผลเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนในยโนบายการเก็บภาษีสินค้านำเข้าทุกประเภทจากทุกประเทศเพิ่มเติม