สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ส.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 95.08 หดตัว 1.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ 8 เดือนหดตัวเฉลี่ย 1.55% หลังรับแรงกดดันจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน สินค้านำเข้าราคาถูกมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น ต้นทุนภาคการผลิตปรับตัวขึ้น และราคาพลังงานยังคงอยู่ในระดับสูง
พร้อมปรับประมาณการ ปี 67 คาดดัชนี MPI -1.0 ถึง 0.0% และการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรม -0.5% ถึงขยายตัว 0.5% จับตาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ค่าเงินบาท สถานการณ์น้ำท่วม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และการเลือกตั้งของสหรัฐ
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สศอ. เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้ MPI หดตัว มาจากการผลิตยานยนต์ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 จากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและยอดปฏิเสธสินเชื่ออยู่ในระดับสูง รวมถึงสินค้านำเข้าราคาถูกมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งผลต่อผู้ประกอบการไทย
ขณะเดียวกัน ต้นทุนภาคการผลิตปรับตัวขึ้นตามราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งภาวะดอกเบี้ยที่ทรงตัว และต้นทุนพลังงานจากราคาน้ำมันดีเซลยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ สถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ ทำให้การเดินทาง การจัดส่งสินค้า การค้าชายแดน และการผลิตชะงักลง โรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งจำเป็นต้องหยุดดำเนินการ และสถานประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่เสี่ยงต้องปิดตัวชั่วคราว
นางวรวรรณ กล่าวว่า จากตัวเลขดัชนี MPI ช่วง 8 เดือนแรกของปี 67 ที่หดตัว ส่งผลให้ สศอ. พิจารณาปรับประมาณการ ปี 67 โดยดัชนี MPI -1.0 ถึง 0.0% (จากประมาณการเดิมที่ 0-1%) และการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรม -0.5 ถึงขยายตัว 0.5% (จากประมาณการเดิมที่ 0.5-1.5%)
"ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา MPI บวกแค่ 2 เดือน คือ เม.ย. และก.ค. ดังนั้น ภาพรวมอยู่ในแดนลบ และปัจจัยส่วนใหญ่ของ MPI ในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ แม้จะบวกได้บ้าง แต่ก็น่าจะเป็นแรงส่งได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากปัจจัยสำคัญมาจากหนี้ครัวเรือนเป็นหลัก ทั้งนี้ ถ้าเทียบ MPI กับช่วงโควิด-19 หรือในปี 64 ที่ติดลบหนักมาก ก็ถือว่ายังไม่ต่ำกว่าตอนนั้น" นางวรวรรณ กล่าว
สำหรับมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังหลังจากนี้ คือ
1. อัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากสถานการณ์เงินเฟ้อของเศรษฐกิจโลกที่ลดลง ส่งผลนโยบายการเงินในหลาย ๆ ประเทศเริ่มผ่อนคลาย
2. อัตราแลกเปลี่ยนจากค่าเงินบาท มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐปรับตัวลดลง ส่งผลให้เงินทุนไหลออกมายังประเทศในแถบอาเซียนรวมถึงประเทศไทย โดยคาดว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวในช่วงนี้ที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และส่งผลมายังภาคการผลิต โดยเฉพาะด้านอุปโภคและบริโภค เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และเสื้อผ้า เป็นต้น
3. สถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชากรในพื้นที่ และหากการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมเกิดขึ้นอย่างล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและการผลิตในภูมิภาค
"ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วนว่า น้ำท่วมกระทบอุตสาหกรรม โรงงานอะไรบ้าง โดยข้อมูลที่มีตอนนี้มีบางส่วน เช่น จังหวัดเชียงราย อุตฯ ที่ได้รับผลกระทบ คือถังรถยนต์ รถพ่วง หรือจังหวัดพะเยา อุตฯ ที่ได้รับผลกระทบ คือโรงเฟอร์นิเจอร์ไม้ โกดังสินค้าเกษตร อย่างไรก็ดี ตอนนี้ยังประเมินได้ไม่ 100% ต้องดูว่าน้ำท่วมขัง หรือน้ำไหลผ่าน ซึ่งผลกระทบไม่เท่ากัน ทั้งนี้ ไม่ใช่ทุกอุตฯ จะได้ผลกระทบทางลบ แต่บางอุตฯ อาจได้อานิสงส์ เช่น อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เป็นต้น" นางวรวรรณ กล่าว
4. นโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 400 บาท จะกระทบต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ดี ล่าสุดคาดว่าจะยังไม่สามารถปรับขึ้นค่าแรงได้ในวันที่ 1 ต.ค. นี้
5. การเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา อาจจะส่งผลต่อการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องหาแนวทางการรับมือกับนโยบายทางการค้าที่อาจเปลี่ยนแปลง
สำหรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแจกเงิน 10,000 บาท เฟสแรกแจกกลุ่มเปราะบางทั้งหมด 1.45 แสนล้านบาท คาดกระตุ้น GDP ได้ 0.3% ในส่วนของ GDP ภาคอุตฯ คาดโต 0.1% จากกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับว่าเงินจะหมุนในระบบได้ทั้งหมดกี่รอบ ถ้าหมุนน้อยรอบ อัตราที่มีผลต่อภาวะทางเศรษฐกิจก็จะน้อยตาม
"จากปัจจัยน้ำท่วม และค่าเงินบาทที่แข็งค่า ประเมิน MPI เดือนก.ย. เป็นลบต่อ เนื่องจากนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท คาดว่าจะมีผลในเดือนต.ค. นอกเหนือจากนี้ก็ยังไม่มีสัญญาณบวก ทั้งดอกเบี้ย และราคาพลังงานที่ยังสูง อย่างไรก็ดี ช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. จะเป็นไฮซีซันของการท่องเที่ยว อาจเห็น MPI เพิ่มขึ้นบ้างในเดือนพ.ย. ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของรัฐบาล นโยบายต่าง ๆ ก็มีผลต่อการเร่งการลงทุนของอุตฯ ใหม่ๆ ได้มากขึ้นด้วย ส่วนปี 68-69 ถ้ายังเป็นโครงสร้างอุตฯ เดิม ๆ ก็ยังเจอปัญหาเดิมคือเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ มองว่าหลังจากนี้น่าจะมีการปรับโครงสร้างอุตฯ ใหม่ ๆ เข้ามา ดังนั้น MPI ก็น่าจะเปลี่ยนไปด้วย" นางวรวรรณ กล่าว
- ยานยนต์ หดตัวลดลง 18.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะรถบรรทุกปิกอัพ และรถยนต์นั่งขนาดเล็กเป็นหลัก ตามการหดตัวของตลาดในประเทศ จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ
- ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลง 11.84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องมาจาก Integrated circuits (IC) เป็นหลัก โดยเป็นไปตามทิศทางความต้องการสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่ยังฟื้นตัวช้ากว่าสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ในกลุ่มอื่น ๆ
- คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ หดตัวลดลง 13.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์เสาเข็มคอนกรีตและพื้นสำเร็จรูปคอนกรีตเป็นหลัก ตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ และความล่าช้าในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ รวมถึงผลกระทบจากน้ำท่วมบางพื้นที่
- สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง ขยายตัว 41.61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจาก ปลาทูน่ากระป๋อง เป็นหลัก หลังราคาวัตถุดิบทูน่าปรับตัวลดลง โดยตลาดส่งออกขยายตัว ตามคำสั่งซื้อจากอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เพื่อเก็บเป็นสต๊อกสินค้าหลังปัญหาภูมิรัฐศาสตร์อาจส่งผลกระทบต่อการขนส่ง
- อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัว 9.40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปเป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น เช่น อเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ และแคนาดา ขณะที่อาหารปศุสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวจากแนวโน้มราคาจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ปรับเพิ่มขึ้น
- คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ขยายตัว 18.84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตาม Hard Disk Drive เป็นหลัก ตามความต้องการขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังชะลอตัวในช่วงก่อนหน้า รวมถึงความต้องการสินค้าทดแทนสินค้าที่หมดประกันและครบอายุการใช้งาน