นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า เตรียมนัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มาหารือกันเพื่อหาข้อสรุปในโครงการดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่เกินต้นเดือน ต.ค.67 และจะมีข้อสรุปทั้งหมดออกมา จากนั้นจะรายงานความคืบหน้าให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป
รมช.คลัง กล่าวว่า โดยหลักการของโครงการ Entertainment Complex คงไม่ได้ต่างจากที่สภาผู้แทนราษฎรส่งให้ ครม. ได้พิจารณาก่อนหน้านี้ แต่อาจต้องปรับเปลี่ยนในบางเรื่องที่เป็นข้อจำกัด โดยเฉพาะในด้านกฎหมาย เช่น การบริหารรายได้ การจัดเก็บภาษี ซึ่งตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ กำหนดว่าอำนาจในเรื่องดังกล่าวเป็นของกระทรวงการคลัง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีที่จะต้องดำเนินการ ซึ่งคงไม่สามารถมอบอำนาจให้คณะกรรมการ หรือบุคคลใดตามที่สภาฯ ให้ข้อเสนอแนะมาได้
ส่วนข้อเสนอเรื่องการจัดตั้งกองทุน เพื่อลดผลกระทบจากการพนันและสถานบันเทิงครบวงจร ที่ยังมีปัญหาเล็กน้อย โดยเมื่อมาพิจารณาตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ในเรื่องการจัดตั้งกองทุนใหม่ที่ห้ามไม่ให้มีภาระกิจซ้ำซ้อน ซึ่งข้อเสนอแนะจากส่วนราชการเห็นว่าอาจจะต้องมีการปรับรูปแบบกองทุน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปและสอดคล้องตามหลักกฎหมายประกอบทั้งหมด โดยรายละเอียดจำเป็นต้องมาหารือกันเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนอีกครั้ง
"เรื่องพื้นที่จัดตั้ง Entertainment Complex จะไม่ได้พูดคุย เพราะไม่ใช่หน้าที่รับผิดชอบ แต่เรามีหน้าที่พิจารณาในขั้นตอนการทำกฎหมาย และจะวิเคราะห์ในเรื่องผลได้ทางเศรษฐกิจ ว่ามีรายได้ หรือเป็นประโยชน์กับรัฐเท่าไร และอย่างไร หลัก ๆ ก็ดูโมเดลของสิงคโปร์ เพราะเขาทำไว้ดี" นายจุลพันธ์ กล่าว
ส่วนมิติของการป้องกันผลกระทบทางลบที่จะเกิดกับภาพรวมเศรษฐกิจและสังคมนั้น กระทรวงการคลังได้พิจารณาอย่างรอบคอบ แต่ท้ายที่สุดเรื่องนี้จะเป็นอำนาจของสภาฯ ที่จะต้องพิจารณาร่วมกันอีกครั้งว่าโครงการดังกล่าวจะมีผลกระทบอย่างไร จะป้องกันผลกระทบทางลบอย่างไร ซึ่งต้องมาช่วยกันคิดเพื่อให้โครงการเดินหน้าสู่ความสำเร็จ
รมช.คลัง กล่าวถึงกรณีที่เอกชนแสดงความสนใจที่จะลงทุนในโครงการ Entertainment Complex ว่า นับเป็นเรื่องดี โดยยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ปิดกั้น เพียงแต่กระทรวงการคลัง จะต้องกำหนดข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ให้ชัดเจน รวมทั้งกำหนดรูปแบบโครงการออกมาเป็น TOR เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ และย้ำว่ากระบวนการทั้งหมด จะต้องเป็นไปตามข้อกฎหมาย โปร่งใส และมีความชัดเจนว่ารัฐและประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างไร
"เอกชนจะไปดำเนินการตรงไหน อย่างไร ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่กระทรวงการคลังในฐานะภาครัฐ ต้องมากำหนดข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ชัดเจน ซึ่งอาจจะใช้เวลาเป็นปี อาจจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำหนดพื้นที่ ว่าจังหวัดไหน จุดไหนจะเหมาะสม รวมถึงจะต้องมีการกำหนดรูปแบบของโครงการออกมาเป็น TOR เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เช่น กำหนดให้มีพื้นที่ของสวนสนุก อย่าง Disneyland หรือ Universal Studios เป็นต้น หรือให้มีพื้นที่ของสนามกีฬาระดับนานาชาติแห่งใหม่" นายจุลพันธ์ กล่าว